ค้นหา

Q&A : ด่าคนอื่นพล่อยๆ ผิดกฎหมายหรือไม่?

คำด่าพล่อยๆ ต้องเป็นการ “ดูหมิ่น” เช่น ดูถูก เหยียดหยาม ทำให้อับอาย ทำให้เสียหาย เป็นที่เกลียดชัง = “ความผิดฐานดูหมิ่น”

“ความผิดฐานดูหมิ่น”

“ผู้ใดดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393

ดูหมิ่น หมายถึง การดูถูก เหยียดหยาม ทำให้อับอาย ทำให้เสียหาย เป็นที่เกลียดชัง สบประมาท หรือด่า ส่วนกรณีคำหยาบคายไม่สุภาพ คำแดกดัน คำสาปแช่ง คำขู่อาฆาต คำปรับทุกข์ คำโต้เถียง คำกล่าวติชม ตามปกติวิสัยไม่เป็นการดูหมิ่น และการดูหมิ่นนั้นอาจเป็นการกระทำด้วยวาจา กริยาท่าทาง หรือโฆษณาก็ได้ โดยการกระทำที่จะเป็นความผิดฐานดูหมิ่นตามมาตรา 393 นั้น ต้องเป็นการดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือดูหมิ่นผู้อื่นด้วยการโฆษณา ดังนี้

  “การดูหมิ่นซึ่งหน้า”  มีลักษณะของการเจตนาดูถูก เหยียดหยาม ทำให้อับอาย เสียหาย เป็นที่เกลียดชัง สบประมาท หรือด่า อันเป็นการประทุษร้ายต่อความรู้สึกของผู้อื่น อาจกระทำด้วยวาจาหรือกิริยาท่าทางก็ได้ โดยจะต้องมีการกล่าวหรือแสดงกิริยาท่าทางที่เป็นการดูหมิ่นให้ผู้อื่นทราบในขณะที่มีการกระทำในทันทีทันใด เช่น ด่าผู้อื่นว่า “ไอ้ทนายเฮงซวย” “ตอแหล” “ผู้หญิงชั่ว” “ไอ้หน้าโง่” “อีเหี้ย อีสัตว์ อีควาย มึงคิดว่าเมียกูกินเงินไปหรือไง” “อีดอก”

  “การดูหมิ่นด้วยการโฆษณา”  มีลักษณะของการแพร่หลายหรือเผยแพร่ออกไปยังสาธารณชนหรือการป่าวประกาศ อาจกระทำโดยเอกสารภาพวาด ภาพยนตร์ หรือการกระจายเสียง การดูหมิ่น ด้วยการโฆษณานี้แม้เป็นการกล่าวลับหลังผู้เสียหายก็เป็นความผิดแล้ว เช่น การลงโฆษณาคำดูหมิ่นลงในหนังสือพิมพ์ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าความผิดฐานหมิ่นประมาทและความผิดฐานดูหมิ่นผู้อื่นเป็นกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของบุคคลไม่ให้มีการกระทำที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันมีการพัฒนาการทางเทคโนโลยีซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจึงอาจทำให้เกิดการละเมิดสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลได้ง่ายมากขึ้น อย่างไรก็ตามหากทุกคนตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพของตนและของผู้อื่น บทบัญญัติแห่งกฎหมายตามกรณีข้างต้นย่อมไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด

ขอบคุณข้อมูลจาก กลุ่มงานนิติการ สำนักอำนวยการ

อ้างอิง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393

กฎหมายอาญาน่ารู้ 66 : ดูหมิ่นแบบนี้ ฎีกาว่าไงนะ?