ค้นหา

หลอกก่อนเอาทรัพย์ เตรียมรับโทษฉ้อโกง

หลอกเเล้วเอา(ทรัพย์) คือ ฉ้อโกง

องค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกง มีอะไรบ้าง ???

หลอกก่อนเอาทรัพย์ เตรียมรับโทษฉ้อโกง

ความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา หมวด 3 (มาตรา 341-348) โดยมีองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกง ดังนี้

1. องค์ประกอบภายนอก ได้แก่
1.1 ผู้กระทำ = ผู้ใด
1.2 การกระทำ = การหลอกลวง โดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือ ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง
1.3 กรรม = ผู้อื่น
1.4 ผลของการกระทำ = ทำให้ผู้อื่นหลงเชื่อ และมีการโอนไปซึ่งทรัพย์สิน โดยผู้กระทำได้ทรัพย์สินไป หรือ มีการทำ/ถอน/ทำลายเอกสารสิทธิ

2. องค์ประกอบภายใน ได้แก่
2.1 มีเจตนาธรรมดา = กระทำโดยเจตนา ได้แก่ กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น
2.2 มีเจตนาพิเศษโดยทุจริต = เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่ไม่ควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง หรือผู้อื่น

ฉ้อโกง คืออะไร?

ความหมายของฉ้อโกง

ฉ้อโกง = หลอกแล้วเอา

การหลอกคนอื่นโดยแสดงข้อความเท็จหรือปกปิดความจริงที่ควรบอกเพื่อเอาทรัพย์สินคนอื่นหรือทำให้คนอื่นทำ ถอน ทำลาย เอกสารสิทธิ

ทรัพย์สิน คือ ทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่างที่อาจมีราคาและถือเอาได้ เช่น เงิน บ้าน ช้าง วัว รถยนต์ ลิขสิทธิ์ เอกสารสิทธิ

การฉ้อโกง ต้องเจตนาหลอกตั้งแต่แรก แต่ถ้าหลอกหลังจากได้ ทรัพย์สินไปแล้วจะไม่ถือว่ามีความผิดฐานฉ้อโกง

“ข้อความเท็จ” ที่หลอกลวงต้องเป็นเหตุการณ์ในอดีต/ปัจจุบันเท่านั้น แต่ถ้าการหลอกโดยให้ “คำมั่น” “สัญญา” ว่าจะทำอะไรในอนาคตแต่มีการยืนยันให้เห็นถึงสภาพจิตใจ/ข้อเท็จจริงปัจจุบันว่าไม่ได้เป็นเหมือนที่ผู้หลอกลวงพูด ก็มีความผิดฐานฉ้อโกง

ฉ้อโกง กับโทษตามกฎหมาย

หลอกลวงเพื่อให้ได้ทรัพย์สินของคนอื่น มีโทษ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บ. หรือทั้งจำทั้งปรับ

หลอกลวงเพื่อให้คนอื่นทำ ถอน ทำลายเอกสารสิทธิ มีโทษ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บ. หรือทั้งจำทั้งปรับ

ฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น มีโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บ. หรือทั้งจำทั้งปรับ

ตัวอย่าง
(1) ก นำเอกสารสิทธิที่ดิน (น.ส. 3 ก.) ที่ระบุชื่อ ส และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของ ส ที่เลอะเลือนมองเห็นไม่ชัดมาแสดงต่อ ค ผู้เสียหายเพื่อขอกู้ยืมเงินทำให้ ค ผู้เสียหายหลงเชื่อว่า ส เป็นเจ้าของที่แท้จริง จึงตกลงให้ ก กู้ยืมเงิน
(2) นำรูปภาพของคนอื่นมาสร้างเป็นโปรไฟล์ในออนไลน์ แล้วหลอกให้หลงรัก และได้ทรัพย์สิน เงิน ทองไป

ฉ้อโกงโดยอาศัยความเบาปัญญาของผู้ถูกหลอกที่เป็นเด็กหรือผู้ที่มีจิตอ่อนแอ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เดิน 100,000 บ. หรือทั้งจำทั้งปรับ

ตัวอย่าง
(1) ก หลอกลวง ข ว่าเหล็กไหลสามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บที่ ข เป็นอยู่ให้หายได้ ซึ่งด้วยความเจ็บป่วยของ ข เป็นความอ่อนแอของจิต จึงถูกหลอกง่ายกว่าคนปกติ และหลงเชื่อเพราะความโง่เขลาเบาปัญญา
(2) คดีหมอประกิตเผ่า ศึกษาธรรมะไปเข้าสถานปฏิบัติธรรม แล้วก็ชอบนั่งสมาธิ แต่บังเอิญช่วงปี 49 ดันไปรู้จักกับผู้หญิง คือ เปมิกา เข้ามาตีสนิทจากการที่ไปปฎิบัติธรรม ต่อมาเปมิกาและพรรคพวกถูกชักจูงโดยใช้วิธีทางจิตวิทยา และนั่งสมาธิแล้วใช้จิตวิทยาหมู่โน้มน้าวให้เชื่อว่า หมอกับเปมิกาเคยผูกพันเป็นสามีภรรยากันมาเมื่อชาติปางก่อน 99 ชาติ มีหนี้กรรมต่อกันต้องมาชดใช้กันชาตินี้ นอกนั้นยังชี้นำอีกว่า หมอบรรลุธรรมขั้นสูง มีญาณวิเศษชาติก่อน /พอหมอเจอจิตวิทยาหมู่หนักๆเข้าก็เคลิ้มไป โดนหลอกให้โอนทรัพย์สินเงินทองให้ร่วมเกือบสิบล้าน /จิตแพทย์ที่ช่วยรักษาได้วินิจฉัยว่าหมอเป็นโรคจิตเวช คือ โรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar) ทำให้มีด้านที่หลงตัวเองว่าเป็นผู้วิเศษตามที่เจอชี้นำเอาไว้ กับด้านที่เป็นปกติ และเจอสาร “ซูโดอีเฟดรีน” ตกค้างในร่างกายจำนวนมาก ซึ่งมีผลต่อจิตประสาท เป็นสารตั้งต้นของยาเสพติดจำพวกยาบ้ายาอี เสพไปมากๆ ก็มีหลอน : หมอถูกหลอกเพราะอาศัยความอ่อนแอแห่งจิต

“ความเบาปัญญาของเด็ก” คือ การหย่อนความคิด หย่อนสติปัญญา หรือรู้ไม่เท่าทัน เนื่องจากเด็กคงมีวุฒิภาวะไม่เท่าผู้ใหญ่
“ความอ่อนแอแห่งจิต” คือ บุคคลที่มีความนึกคิดอ่อนแอไม่เข้มแข็ง หรือป่วยทางจิต ซึ่งอาจถูกหลอกลวงได้ง่าย เช่น
คนเจ็บป่วย คนจิตประสาท

ฉ้อโกงประชาชน กับโทษตามกฎหมาย

ฉ้อโกงประชาชน ด้วยการหลอกประชาชนทั่วไป โดยแสดงข้อความเท็จหรือปกปิดความจริงเพื่อเอาทรัพย์สินคนอื่นหรือ ให้คนอื่นทำ ถอน ทำลายเอกสารสิทธิ มีโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับ 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงเป็นคนอื่น มีโทษ จำคุก 6 เดือน ถึง 7 ปี และปรับ 10,000 – 140,000 บาท

ฉ้อโกงประชาชนโดยอาศัยความเบาปัญญาของผู้ถูกหลอกที่เป็นเด็กหรือมีจิตใจอ่อนแอ มีโทษ จำคุก 6 เดือน ถึง 7 ปี และปรับ 10,000 -140,000 บาท

ไม่ผิดฐานฉ้อโกงประชาชน แม้มีคนเสียหายจำนวนมาก ถ้าจงใจหลอกลวงแค่เฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่ประชาชนทั่วไป
ผิดฐานฉ้อโกงประชาชน แม้มีคนเสียหายคนเดียวถ้าจงใจหลอกลวงประชาชนทั่วไป

ตัวอย่าง ที่ไม่ผิดฐานฉ้อโกงประชาชน
(1) หลอกลวงเฉพาะเจ้าหนี้ของตนแม้มีจำนวนมาก แต่ไม่ใช่การหลอกลวงประชาชนทั่วไป จึงไม่ผิดมาตรา 343
(2) หลอกลวงกลุ่มนักศึกษาเพื่อขายข้อสอบไม่เป็นการหลอกลวงประชาชนทั่วไป
(3) หลอกลวงเฉพาะกลุ่มคนต่างด้าวในหมู่บ้านเดียวกับจ าเลยเท่านั้น ไม่เป็นการหลอกลวงประชาชนทั่วไป

ตัวอย่าง ที่ผิดฐานฉ้อโกงประชาชน
(1) แม้มีการหลอกลวงผู้เสียหายเพียงรายเดียว แต่ถ้า “มีลักษณะแสดงเจตนาหลอกลวงต่อประชาชนทั่วไป” ก็ผิดมาตรา 343 เช่น หลอกให้สมัครฝากเงินไว้กับบริษัท เรื่องนี้มีการดำเนินการด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จเพื่อหลอกลวงประชาชน โดยได้พิมพ์ข้อความโฆษณา
(2) การแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ไม่ได้ถือเอาจำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงว่ามากหรือน้อยแต่ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญและไม่จำเป็นที่จำเลยจะต้องกระทำการดังกล่าวด้วยตนเองมาตั้งแต่ต้นทุกครั้ง เพียงแต่จ ำเลยแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่ผู้เสียหายบางคนแล้วมีการบอกต่อกันไปเป็นทอดๆ เมื่อผู้เสียหายคนหลังทราบข่าวและมาสอบถามจำเลยได้ยืนยันแสดงข้อความอันเป็นเท็จนั้นและให้ผู้เสียหายติดต่อกลับ

ฉ้อโกงเเรงงาน กับโทษตามกฎหมาย

ฉ้อโกงแรงงาน คือการหลอกลวง 10 คนขึ้นไปให้ทำงานให้โดยไม่จ่ายค่าจ้าง หรือจ่ายต่ำกว่าที่ตกลงกันไว้ มีโทษ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บ. หรือทั้งจำทั้งปรับ

ตัวอย่าง
ก หลอกลวงผู้เสียหายทั้ง 11 คนให้ประกอบการงาน คือ สร้างภาพยนตร์ให้ ก โดยเจตนาจะไม่ใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้าง จนผู้เสียหายทั้ง 11 คนหลงเชื่อและมีการทำงานที่เกี่ยวข้องไปบางส่วน

“การหลอกลวงบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปตามมาตรา 344 ไม่จำเป็นต้องหลอกลวงครั้งเดียวครบสิบคน แม้จะหลอกลวงมาครั้งละคนสองคนจนกระทั่งครบสิบคน ถ้าหากผู้กระทำมีเจตนาหลอกลวงให้ได้ครบสิบคนมาตั้งแต่แรกแล้วก็มีความผิดเช่นเดียวกัน”

ฉ้อโกงบริการ กับโทษตามกฎหมาย

ฉ้อโกงบริการ คือการสั่งซื้อและบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มในร้านค้า/โรงเเรม หรือเข้าอยู่ในโรงแรม โดยรู้ว่าตนจ่ายไม่ได้ มีโทษ จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บ. หรือทั้งจำทั้งปรับ

แบบนี้คล้ายๆ แต่ไม่ใช่ “ฉ้อโกงบริการ”
– ก ให้คนไปเอาสุราที่ร้าน ข ผู้เสียหาย โดยให้บอกแก่ ข ผู้เสียหายว่าจะน าเงินไปชำระให้ภายหลัง แล้วในวันรุ่งขึ้นได้ให้คนไปเอามาอีก ซึ่ง ข ผู้เสียหายก็ยอมมอบให้มา เช่นนี้ เป็นเรื่องผู้เสียหายตกลงให้ ก ซื้อของเชื่อ กรณีไม่เข้าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 345
– จะจัดงานแต่ง แล้วสั่งจองอาหารลงโต๊ะ ตกลงกันโต๊ะละ 500 บาท เสร็จงานไม่จ่ายเงิน ไม่เข้า 345 แต่เป็นการผิดสัญญาทางแพ่ง

ฉ้อโกงให้จำหน่ายทรัพย์สินโดยเสียเปรียบ กับโทษตามกฎหมาย

ฉ้อโกงให้จำหน่ายทรัพย์สินโดยเสียเปรียบ การชักจูงให้คนที่มีจิตอ่อนแอ/เด็กเบาปัญญาและไม่สามารถเข้าใจตามทันตน ขายทรัพย์สิ้นโดยเสียเปรียบ เพื่อเอาทรัพย์สินนั้นมาเป็นของตน/คนอื่น เช่น การหลอกขายของแล้วส่งของไม่ตรงปกให้ลูกค้า การหลอกคนที่รู้ไม่ทันตนเองขายทรัพย์สินในราคาที่ต่ำเพื่อเอาไปขายต่อในราคาที่สูง เป็นต้น มีโทษ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บ. หรือทั้งจำทั้งปรับ

“การชักจูง” คือ ชวน แนะนำ ยุยง ส่งเสริม หรือมีส่วนในการตัดสินใจ
“การจำหน่าย” คือ การโอนกรรมสิทธิ์
– ความผิดฐานฉ้อโกงให้จำหน่ายทรัพย์สินโดยเสียเปรียบ ต้องการผล คือ มีการจำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นผลมาจากการถูกชักจูงของผู้กระทำ ถ้ามีการชักจูงแล้วแต่ผู้ถูกชักจูงไม่เชื่อก็เป็นได้แค่พยายามกระทำความผิด
– สำหรับเจตนาพิเศษ คือ เพื่อเอาทรัพย์สินของผู้อื่นเป็นของตนหรือของบุคคลที่สาม ดังนั้น ถ้าการชักจูงนั้นไม่มีเจตนาเอาทรัพย์สินเป็นของตนหรือของบุคคลที่สาม เช่น การชักจูงให้ทำลายทรัพย์สิน ก็ไม่มีความผิดฐานฉ้อโกงให้จำหน่ายทรัพย์สินโดยเสียเปรียบ

ฉ้อโกงวินาศภัย กับโทษตามกฎหมาย

ฉ้อโกงวินาศภัย

ฉ้อโกงวินาศภัย การแกล้งให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เอาประกัน เพื่อให้ตนเอง/คนอื่นได้ประโยชน์จากประกันวินาศภัย มีโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บ. หรือทั้งจำทั้งปรับ

คดีฉ้อโกงยอมความได้หรือไม่?

คดีฉ้อโกงยอมความได้หรือไม่

ฉ้อโกงยอมความได้
แต่ฉ้อโกงประชาชนยอมความไม่ได้

ทำไงดี? เมื่อถูกฉ้อโกง

ถูกฉ้อโกง ทำไงดี?

เมื่อถูกฉ้อโกงให้รวบรวมหลักฐานทั้งหมดแจ้งความดำเนินคดี ภายในเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่ทราบเรื่องและรู้ตัวผู้ทำผิด

อ้างอิง พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 มาตรา 341, 342, 343, 344, 345, 346, 347, 348