ค้นหา

การวิจัยเพื่อแก้ปัญหาการกระทำผิดซ้ำ

ประเทศไทยมีเรือนจำทั้งหมด 189 แห่ง มีผู้ต้องขังในเรือนจำทั้งสิ้น 339,207 คน ประมาณ 80% เป็นนักโทษคดียาเสพติด

ข้อมูลกรมราชทัณฑ์ ณ วันที่ 29 ม.ค. 2564

สถิติผู้กระทำผิด และผู้กระทำผิดซ้ำในปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะผู้กระทำผิดในคดียาเสพติด ซึ่งปัญหาการกระทำผิดซ้ำนอกจากจะกระทบต่อตัวบุคคลผู้กระทำผิดซ้ำเองในด้านคุณภาพชีวิตที่ต่ำลงจากการมีประวัติอาชญากรรมติดตัวและการขาดโอกาสในทางการศึกษาหรืออาชีพ

เมื่อเปรียบเทียบกับบุคคลที่ไม่เคยกระทำผิดอาญา และยังส่งผลกระทบต่อความมั่นคงความปลอดภัยในชีวิตของ ประชาชน ส่งผลด้านลบต่อสังคมและเศรษฐกิจในทุกระดับและทุกภาคส่วน ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในระบบงานยุติธรรม โดยสะท้อนถึงประสิทธิภาพกระบวนการยุติธรรมในปัจจุบัน นำไปสู่แนวโน้มที่ประชาชนและสังคม จะให้โอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจแก่ผู้ที่เคยกระทำผิดมาแล้วน้อยลง

การจัดทำโครงการวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาการกระทำผิดซ้ำ จึงดำเนินการวิจัยในลักษณะของแผนการวิจัยเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาการกระทำผิดซ้ำได้อย่างครอบคลุมในทุกมิติ โดยเฉพาะผู้กระทำผิดในคดียาเสพติด ซึ่งถือว่าเป็นฐานความผิดที่มีผู้กระทำผิดและกระทำผิดซ้ำมากที่สุด

ผลการวิจัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดในการสร้างและปรับปรุงนโยบายในการป้องกันและลดการกระทำผิดซ้ำ เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานในอนาคต ตามกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้ต้องขัง (โดยเฉพาะในคดียาเสพติด) เด็กและเยาวชนที่กระทำผิด กรมราชทัณฑ์ กรมคุมประพฤติ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน สำนักงานกิจการยุติธรรม ชุมชนและภาคเอกชน ที่เกี่ยวข้อง

นำไปสู่การพัฒนา เครื่องมือการจำแนกผู้กระทำผิด การพัฒนากระบวนการจำแนกผู้กระทำผิด การพัฒนาฐานข้อมูลผู้กระทำผิด การพัฒนาเครื่องมือเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยที่มีประสิทธิภาพ การสร้างเครื่องมือประเมินผล โปรแกรมแก้ไข บำบัด ฟื้นฟูผู้กระทำผิด การพัฒนากระบวนการติดตามหลังปล่อย และการช่วยเหลือหรือสงเคราะห์ผู้พ้นโทษ โดยคำนึงถึงกระบวนการที่เหมาะสมและไม่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตของผู้พ้นโทษ

รูปแบบและแนวทางการมีส่วนร่วมในการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดของภาครัฐ ชุมชนและภาคเอกชนในการให้โอกาสผู้กระทำผิดกลับคืนสู่สังคม ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ การศึกษา และอาชีพ รวมถึงการศึกษากฎหมาย กฎ ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องของประเทศไทยที่เป็นอุปสรรคต่อการกลับไปใช้ชีวิตในสังคมหลังพ้นโทษ

ข้อเสนอเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการที่เหมาะสมในการจัดตั้งธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) และข้อเสนอเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนชีวิตหลังปล่อยของผู้พ้นโทษ

ข้อเสนอแนะแบ่งเป็น

1) ข้อเสนอที่ควรดำเนินการอย่างเร่งด่วน ได้แก่ การส่งเสริมให้มีเครือข่ายชุมชนเพื่อช่วยเหลือและติดตามผลการแก้ไขของผู้พ้นโทษ ส่งเสริมให้มีวิสาหกิจสังคม ที่จะเข้ามาดำเนินการ รับช่วงต่อจากรัฐในการดูแลผู้พ้นโทษหลังปล่อยตัว การเปิดใช้ระบบฐานข้อมูลผู้กระทำผิดร่วมกันของหน่วยงานพัฒนาพฤตินิสัย

2) ข้อเสนอที่จะดำเนินการทดลองในปีที่ 2 ได้แก่ การทดลองใช้เครื่องมือและกระบวนการจำแนกผู้กระทำผิด กระบวนการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟูผู้กระทำผิด และการพัฒนากระบวนการติดตามหลังปล่อย

3) ข้อเสนอที่ควรมีการวิจัยเพิ่มเติม

การนำไปใช้ประโยชน์และส่งต่อผลผลิตให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

  1. ผลผลิตการวิจัย นำเสนอต่อคณะอนุกรรมการพัฒนาและส่งเสริมการวิจัยในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นคณะอนุกรรมการในคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) เพื่อเป็นข้อมูลในการกำหนดนโยบายและผลักดันสู่การปฏิบัติต่อไป
  2. ส่งต่องานวิจัยให้หน่วยงานพัฒนาพฤตินิสัย ได้แก่ กราราชทัณฑ์ กรมคุมประพฤติ และกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เพื่อกำหนดแนวทางที่นำไปสู่การปฏิบัตืต่อผู้กระทำผิด โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขและลดการกระทำผิดซ้ำ
  3. ส่งต่อผลผลิตการวิจัยไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งเผยแพร่สู่สาธารชนในรูปแบบของรายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ และสื่อวิดีทัศน์

อ่านงานวิจัยฉบับเต็มได้ที่ : http://www.justice-kb.oja.go.th/DipWe…