มาตรฐานใหม่ ควบคุม ฟื้นฟู บำบัด แก้ไข ผู้ต้องขังในเรือนจำ
“ปฎิรูปกฎหมายราชทัณฑ์ สร้างความเชื่อมั่นให้สังคม”
แต่เดิม….พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช 2479 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานและมีบทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับนโยบายทางอาญาของประเทศ ประกอบกับมีกฎหมายและกฎเกณฑ์ในระดับสากลที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังประเภทต่างๆ และการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
ซึ่งมิได้มีการบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติดังกล่าว ส่งผลให้การดําเนินงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไม่สอดคล้องตามมาตรฐานสากล อาทิ ข้อกําหนดมาตรฐานขั้นต่ำสําหรับปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners / SMR) หรือข้อกําหนดของสหประชาชาติ สําหรับการปฏิบัติต่อ ผู้ต้องขังหญิงในเรือนจําและมาตรการที่มิใช่การควบคุมขังสําหรับผู้กระทําผิดหญิง (United Nations Rules for the Treatment of Women Prisoners and Non – Custodial Measures for Women Offenders) หรือข้อกําหนดกรุงเทพ (Bangkok Rules)
รวมทั้ง ยังไม่สามารถจัดการหรือบริหารโทษของผู้ต้องขังเฉพาะราย หรือเฉพาะคดีได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติให้อํานาจในการดําเนินการ และไม่สามารถดําเนินการ ให้มีสถานที่ควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องขังประเภทอื่น นอกจากการคุมขังไว้ในเรือนจํา ซึ่งทําให้ระบบการพัฒนาพฤตินิสัย และการบริหารงานเรือนจําไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กําหนดไว้
สมควรกําหนดให้มีคณะกรรมการราชทัณฑ์ เพื่อกําหนดนโยบายและทิศทางในการบริหารงานราชทัณฑ์และปรับปรุงกฎหมายให้สามารถแก้ไข บําบัด ฟื้นฟู และพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขัง กับทั้งเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาอื่นในการบริหารจัดการกระบวนงานของ กรมราชทัณฑ์ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ที่มา : พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560