สินส่วนตัว : เป็นกรรมสิทธิ์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จัดการเองได้เลย
1. ทรัพย์สินที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนจะสมรส – ต้องมีกรรมสิทธิ์ก่อนการสมรสจึงจะเป็นสินส่วนตัว
2. ทรัพย์สินที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งตัว หรือเครื่องประดับตามฐานะ เช่น สร้อยคอ นาฬิกา ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า ฟันปลอม ฯลฯ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ เช่น จอบ เสียม เครื่องจักรที่ใช้ในการประกอบอาชีพ ฯลฯ
3. ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาในระหว่างสมรส* โดยการรับมรดก (ไม่ว่าจะรับมรดกตามกฎหมายหรือตามพินัยกรรม) หรือการให้โดยเสน่หา
4. ของหมั้น – เป็นสินส่วนตัวของภรรยาเท่านั้น
5. ของแทนสินส่วนตัว – ทรัพย์หรือเงินที่ได้มาจาการเอาสินส่วนตัวไปแลกหรือขาย
สินสมรส : สามี-ภรรยา ต้องจัดการสินสมรสร่วมกัน หรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่าย
1. ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาในระหว่างสมรส* – ทรัพย์สินทั้งหมดที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำมาหาได้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าอีกฝ่ายจะมีส่วนร่วมในการทำมาหาได้หรือไม่ เช่น เงินเดือน เงินบำนาญ ค่าชดเชยต่างๆ ฯลฯ
2. ทรัพย์สินที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาในระหว่างสมรส* โดยพินัยกรรม หรือการให้เป็นหนังสือ ซึ่งพินัยกรรมหรือหนังสือให้ได้ระบุว่าทรัพย์สินนั้นเป็นสินสมรส
3. ทรัพย์สินที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว – ดอกผลของสินส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นดอกผลธรรมดาหรือดอกผลนิตินัย ถือเป็นสินสมรส
ศัพท์กฎหมาย
ในระหว่างสมรส : นับตั้งแต่เวลาที่มีการจดทะเบียนสมรสกัน จนกว่าจะมีการเพิกถอนการจดทะเบียนหรือจดทะเบียนหย่าร้าง
ดอกผลธรรมดา : สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของทรัพย์ หรือที่ได้มาจากตัวทรัพย์ เช่น ลูกวัวเป็นดอกผลธรรมดาของแม่วัว
ดอกผลนิตินัย : ทรัพย์หรือประโยชน์ที่เจ้าของทรัพย์ได้มาจากคนอื่นเนื่องจากการใช้ทรัพย์นั้น เช่น ดอกเบี้ยเงินกู้ ค่าเช่าบ้าน
ที่มา : ประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ มาตรา 1471, 1472, 1473, 1474, 1476