ค้นหา

สิทธิที่จะไม่พูด.. ไม่ตอบคำถาม.. ไม่ให้การกับตำรวจ..

หลายคนไม่รู้ว่า ถ้าตำรวจแจ้งข้อหาจับเราแล้ว…. เราเป็นผู้ต้องหา เรามีสิทธิอะไรบ้าง... ถ้าตำรวจสอบถามอะไร เราจะต้องตอบทั้งหมดมั้ย….. สิทธิผู้ต้องหา หรือจำเลยที่จะเล่าให้ฟังในวันนี้ คือ เรื่องสิทธิที่จะไม่พูด.. ไม่ตอบคำถาม.. ไม่ให้การกับตำรวจ.. สิทธินี้ เขียนไว้ในกฎหมายว่า ตำรวจต้องแจ้งสิทธิเขาว่า.. เขาจะไม่ตอบคำถามใดๆที่จะต้องถูกดำเนินคดีได้.. อาจจะขอคุยกับทนายความก่อน… ค่อยยอมให้การ…. หรือคุยแล้ว ยังไม่ให้การ ก็ยังได้… กฎหมายนี้ นักกฎหมายทุกคนต้องได้เรียน… แต่สิ่งที่นักศึกษากฎหมายส่วนมากไม่รู้คือ… ที่มา หรือแนวคิดทฤษฎีของสิทธิ ที่จะไม่พูดว่า เอามาจากไหน.. ถ้าเราได้เรียนรู้ เข้าใจที่มาที่ไป จะทำให้เราเข้าใจใช้ และตีความกฎหมายได้ถูกต้องมากขึ้นครับ…

  • สิทธิที่จะเงียบนี้ มาจากหลักกฎหมายเก่าแก่ที่กล่าวว่า… “คนเรามีสิทธิจะฆ่าตัวเองได้” คือ มีเพียงเราเท่านั้นที่มีสิทธิทำร้ายตนเอง ด้วยความสมัครใจได้.. คนอื่นไม่มีสิทธิทำให้เราตาย หรือบังคับให้เราทำร้ายตัวเอง.. ต่อมา หลักการนี้ ได้พัฒนามาเป็นหลักสุภาษิตกฎหมายละตินว่า.. “ไม่มีใครบังคับให้เราฆ่าตัวเองได้” (nemo tenetur prodere se ipsum)

ต่อมานักกฎหมายนำแนวคิดและสุภาษิตนี้มาพัฒนาเป็นหลักกฎหมายว่า.. “ผู้กระทำผิด มีสิทธิที่จะไม่ปรักปรำตนเอง” (Right against self-incrimination) หมายความว่า.. ผู้ต้องหา หรือจำเลยมีสิทธิที่จะไม่พูดว่า ตนเองกระทำผิด.. ถ้าพูดแล้วตนเองจะถูกดำเนินคดี หรือได้รับโทษ.. เขามีสิทธิที่จะปฎิเสธ.. หรือให้การโกหกศาลอย่างไรก็ได้ โดยไม่มีความผิด เพราะเป็น “สิทธิ”.. เว้นแต่ เขาเบิกความในฐานะพยาน..

กฎหมายจึงบัญญัติว่า.. “ห้ามโจทก์อ้างจำเลยเป็นพยาน..” เพราะอาจทำให้จำเลยถูกบังคับต้องเบิกความปรักปรำ ให้ร้ายตนเอง.. หลังจากนั้น ก็มีการนำแนวคิดนี้มาใช้ในชั้นสอบสวนด้วยว่า.. “ผู้ต้องหามีสิทธิจะให้การอย่างไรก็ได้.. จะไม่ให้การเลย ก็ได้.. หรือมีสิทธิที่จะไม่พูด..ไม่ตอบคำถามของตำรวจ (Right to Silent)..” คือ รัฐจะไปบังคับให้เขารับสารภาพไม่ได้.. ถ้าเขาจะรับสารภาพ ต้องเกิดจากความสมัครใจโดยแท้ของเขาเอง..

ล่าสุดศาลอเมริกันวางหลักเพิ่มเติมจากแนวคิดนี้ว่า.. “ผู้ต้องหา อาจไม่ทราบว่าตนมีสิทธิที่จะไม่ให้การ.. ที่อาจปรักปรำหรือทำให้ตนต้องรับโทษ.. ตำรวจจึงมีหน้าที่ต้องแจ้งสิทธินี้ให้จำเลยทราบ.. และต้องเตือนผู้ถูกจับด้วยว่า มีสิทธิที่จะไม่ให้การใดๆ” (Miranda Warning).. นั่นคือ สิทธิที่จะไม่พูดนั้น.. จำเลยบางคนไม่รู้.. เจ้าหน้าที่รัฐมีหน้าที่แจ้งสิทธินี้ในขณะจับกุม และสอบสวนด้วย..

ถ้าฝ่าฝืน.. สอบถามไปโดยไม่แจ้งเตือนเขาก่อน แล้วเขาสมัครใจให้การ.. คำให้การที่ได้มาอาจไม่ชอบ.. ศาลไม่รับฟังได้.. นี่คือ ส่วนหนึ่งของ มาตรา 226 เรื่อง ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานที่เกิดขึ้นหรือได้มาโดยมิชอบ.. ที่กฎหมายเขียนแบบนี้ เพื่อเป็นการรับรองและคุ้มครองสิทธิว่า.. จำเลยมีสิทธิที่จะต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่.. โดยเฉพาะในประเทศที่ใช้ระบบการดำเนินคดีแบบกล่าวหา (accusatorial system).. เช่น อเมริกัน และอังกฤษ รวมทั้งประเทศไทยนั้น.. ศาลมีหน้าที่นั่งฟัง.. ไม่มีหน้าที่ค้นหาความจริง.. คู่ความต้องนำพยานมา ถามเอง นำสืบต่อสู้กันเอง.. แต่จำเลยมักเป็นฝ่ายเสียเปรียบอัยการโจทก์.. เพราะความไม่รู้ และไม่มีอำนาจในการเสาะหาพยานมาพิสูจน์ความบริสุทธิ์..

กฎหมายเขียนขึ้นเพื่อรองรับสิทธิต่างๆ ของจำเลยมากมาย เพื่อมิให้จำเลยเสียเปรียบมากเกิน.. เพียงพอที่จะต่อสู้คดีกับฝ่ายโจทก์ได้เท่านั้น.. #หลักการทั้งหมดนี้เขานำมาบัญญัติเป็นกฎหมายไทยด้วย.. เพียงแต่ กฎหมายไม่ได้เขียนทฤษฎีหรือที่มาว่าเป็นอย่างไร.. ทำให้พวกเราไม่ทราบ.. จึงใช้ กฎหมาย เท่าที่อ่านออก..

ผมเอามาเล่า เพื่อให้นักกฎหมายใช้กฎหมายได้ถูกตรงกับแนวคิดมากยิ่งขึ้น .. โดยเฉพาะเวลาถกเถียงตีความกฎหมาย เมื่อกฎหมายเขียนไม่ชัดหรือไม่ได้เขียนไว้ เช่น.. สิทธินี้.. เป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ต้องหาและจำเลย.. เมื่อมันเป็น “สิทธิ”.. เจ้าของสิทธิย่อม อาจจะ..”ใช้”.. หรือ “สละสิทธิ” ก็ได้..

ดร.ธีร์รัฐ ไชยอัคราวัชร์

เมื่อสละสิทธิ.. คือ ยอมให้การแล้ว.. เกิดเปลี่ยนใจ จะใช้สิทธิไม่พูด ไม่ให้การต่อไปก็ได้.. และเมื่อใช้สิทธิ คือ ไม่ให้การแล้ว.. เกิดเปลี่ยนใจอีก จะสละสิทธิ ยอมให้การต่อ ก็ทำได้.. ถ้าเข้าใจตรงกันตามนี้ได้ก็ดีครับ.. จะไม่เกิดปัญหาว่า เขาทำได้มั้ย.. แต่ถ้าอธิบายกันแบบนี้แล้ว ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐยังยึดตัวบทอย่างเข้มแข็ง และโต้แย้งว่า.. “ผู้ต้องหา สละสิทธิไม่ได้.. เปลี่ยนใจ กลับไปมาไม่ได้ เพราะกฎหมายไม่ได้บอกว่าให้ทำได้..” ก็คงต้อง.. บ๋ายบาย.. ละครับ

  • #สรุปว่า.. หลักกฎหมายเรื่อง สิทธิที่จะไม่พูดหรือไม่ให้การนี่.. มาจากหลักกฎหมายโบราณ ที่กล่าวว่า.. “เรามีสิทธิจะทำร้ายตัวเอง.. แต่คนอื่น ไม่มีสิทธิมาบังคับให้เราทำร้ายตัวเอง”… นั่นคือ เขามีสิทธิจะสมัครใจให้การรับสารภาพว่า เขาทำผิดซึ่งจะต้องรับโทษ.. แต่จะไปบังคับให้เขารับสารภาพจนต้องรับโทษไม่ได้..

ตอนนี้คงเข้าใจแล้วนะครับว่า.. ทำไม.. การฆ่าตัวตายจึงไม่ผิดกฎหมาย.. เพราะมนุษย์มีสิทธิทำร้ายตัวเอง.. ทำไม.. การสนับสนุนให้คนอื่นที่มีความคิดปกติให้ฆ่าตัวตาย ก็ไม่ผิด.. เพราะเมื่อการฆ่าตัวเองไม่ผิด คนช่วยทำก็เลยไม่ผิดไปด้วย.. (ต้องไม่ใช่การสนับสนุนเกินไปถึงขั้น ลงมือฆ่าเขาเองนะ)

แต่การบังคับให้เขาฆ่าตัวตาย.. เป็นความผิด.. เพราะเขาไม่อยากตาย.. และคนอื่นก็ไม่มีสิทธิไปบังคับให้เขาฆ่าตัวตาย… ตำรวจจึงไม่มีสิทธิข่มขู่ บังคับ หลอกล่อ ให้สัญญา หรือหลอกลวงให้ผู้ต้องหาตอบคำถาม หรือรับสารภาพ.. หากทำไป.. ข้อมูลคำตอบหรือคำให้การรับสารภาพที่ได้มา โดยมิชอบ มีผลเท่ากับว่า เขาไม่ได้ให้ข้อมูลนั้นหรือเขาไม่ได้รับสารภาพนั่นเอง.. หวังว่าโพสต์นี้คงมีประโยชน์ต้อผู้ปฏิบัติ และนิสิตนักศึกษากฎหมายบ้างนะครับ..

ที่มาบทความ : ดร.ธีร์รัฐ ไชยอัคราวัชร์