ค้นหา

รับจ้างเปิดบัญชี – เปิดบัตร – เปิดเบอร์ – เปิดแอพ – ติดคุกหลายปี ปรับหลายแสน!!

พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 มีผลบังคับใช้วันนี้ (17 มีนาคม 2566) ซึ่งปัจจุบันการใช้เทคโนโลยีหลอกลวง ผ่านอุปกรณ์ต่าง ๆ ทำให้เสียทรัพย์สินจำนวนมาก และมิจฉาชีพได้โอนทรัพย์สินที่ได้จากการทำความผิดผ่านบัญชีเงินฝากของคนอื่น ต่อไปเป็นทอด ๆ ผ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์ เช่น บัตร ATM บัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือบัญชีเงินอิล็กทรอนิกส์ (แอปพลิเคชันธุรกรรมทางการเงิน เช่น แอปพลิเคชันธนาคาร แอปพลิเคชันทรูมันนี่วอลเลต รวมถึงแอปพลิเคชันผู้ประกอบธุรกิจที่มีการชำระค่าบริการต่างๆ ) อย่างรวดเร็ว เพื่อปกปิดหรืออำพรางการทำความผิด

พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 (มาตรา 9, 10, 11)

อาชญากรรมทางเทคโนโลยี คือ การกระทำหรือพยายามกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพื่อฉ้อโกง กรรโชก หรือรีดเอาทรัพย์ บุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือโดยประการที่น่าจะทำให้บุคคลอื่นเสียหาย หรือกระทำความผิดฐานฉ้อโกง กรรโชก หรือรีดเอาทรัพย์ โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือ

มาตรา 9 ผู้ใดเปิดหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ของตน โดยไม่ได้มีเจตนาใช้เพื่อตนหรือเพื่อกิจการที่ตนเกี่ยวข้อง หรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้หรือยืมใช้เลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตน ทั้งนี้ *โดยประการที่รู้หรือควรรู้ว่าจะนำไปใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทาเทคโนโลยี หรือความผิดทางอาญาอื่นใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 10 ผู้ใดเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใด ๆ เพื่อให้มีการซื้อ ขาย ให้เช่า หรือให้ยืม บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดทางอาญาอื่นใด ต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่ 2 – 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 แสนบาทถึงห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 11 ผู้ใดเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใด ๆ เพื่อให้มีการซื้อหรือขายเบอร์โทรศัพท์มือ ซึ่งลงทะเบียนผู้ใช้บริการในนามของบุคคลหนึ่งบุคคลใดแล้ว แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 – 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 – 5 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ดังนั้น จึงอยากเตือนให้หยุดและช่วยกันเป็นกระบอกเสียงไปยังคนใกล้ชิดและคนที่มีพฤติกรรมรับจ้างเปิดบัญชี เปิดซิมมือถือ ฯ เพราะถ้ามีการตรวจสอบแกะรอยพบเส้นทางการเงินของแก๊งมิจฉาชีพ เจ้าของบัญชีเงินฝากที่เป็นผู้เปิดบัญชี อาจถูกดำเนินคดีฐานเป็นตัวการหรือผู้สนับสนุนการทำความผิดฐานฉ้อโกงด้วย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 หรือ มาตรา 86

ซึ่งในกรณีที่ควรรู้ได้ว่า บัญชีดังกล่าวจะถูกนำไปใช้ในการกระทำความผิด เจ้าของบัญชีจะมีความผิดฐานฟอกเงิน ต้องระวางโทษจำคุก 1-10 ปีหรือปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพ.ศ. 2542 อีกด้วยนะครับ

อ้างอิง :
1. พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 (มาตรา 9, 10, 11)
2. ประมวลกฎหมายอาญา (มาตรา 83, 86)
3. พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 (มาตรา 5, 60)