ค้นหา

กระบวนการยุติธรรม กำหนดเวลาทุกขั้นตอน “มีกำหนดเสร็จ – ติดตามความคืบหน้า – ตรวจสอบได้”
พระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565 มีผลใช้บังคับวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2566

สำหรับ พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอนให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนได้รับ ความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า และให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทราบได้ว่าหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม จะพิจารณาเรื่องที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานเสร็จสิ้นเมื่อใด รวมทั้งตรวจสอบความคืบหน้าได้โดยผ่าน ช่องทางที่หลากหลาย แต่ทั้งนี้จะกำหนดระยะเวลาดังกล่าว เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อความเป็นอิสระ ในการอำนวยความยุติธรรมหรือการดำเนินงานโดยสุจริตของบุคคลใดไม่ได้ไม่ว่าทางใด

กระบวนการยุติธรรม คือ วิธีการดำเนินงานให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและความเป็นธรรมทางกฎหมายแก่บุคคล โดยบุคลากรและองค์กรหรือสถาบันต่างๆ ที่มีหน้าที่บริหารงานยุติธรรม

คดีแพ่ง กระบวนการสำหรับดำเนินคดีแพ่ง เช่น ผิดสัญญา/การชดใช้ค่าเสียหาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เช่น ผิดสัญญา/การชดใช้ค่าเสียหาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

คดีอาญา กระบวนการสำหรับดำเนินคดีอาญา เพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

คดีปกครอง กระบวนการสำหรับคดีที่เป็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างเอกชนกับหน่วยงานรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกันเอง

คดีรัฐธรรมนูญ กระบวนการสำหรับควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายหรือการกระทำ การปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ใครมีสิทธิ ติดตามคดี ได้บ้าง

  • คู่ความ
  • ผู้ยื่นฟ้องหรือถูกฟ้องต่อศาล
  • คู่กรณี
  • ผู้มีเรื่องโต้แย้งหรือมีข้อพิพาทกัน
  • ผู้ต้องหา คือ ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิด แต่ยังไม่ได้ถูกฟ้องคดี
  • ผู้เสียหาย คือ ผู้ได้รับความเสียหายจากการทำความผิดหรือผู้มีอำนาจจัดการแทน
  • ผู้มีอำนาจจัดการแทนตามกฎหมาย (เช่น ผู้แทนโดยชอบธรรม พ่อแม่ บุตร สามีภรรยา) หรือในฐานะทนายความ

หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ที่ต้องดำเนินการ ตามพระราชบัญญัตินี้ ได้แก่
(1) กระทรวงกลาโหม (2) กระทรวงมหาดไทย (3) กระทรวงยุติธรรม (4) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (5) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (6) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (7) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (8)คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (9) ศาล (10) องค์กรอัยการ (11) หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมอื่น ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

การอำนวยความยุติธรรมของหน่วยงาน

  1. มีกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จในการพิจารณาเรื่องแต่ละขั้นตอนยกเว้นมีกฎหมายกำหนดระยะเวลาไว้แล้ว
  2. ประกาศและเผยแพร่กำหนดระยะเวลาดำเนินงาน
  3. เจ้าหน้าที่ดำเนินงานให้เสร็จภายในกำหนดระยะเวลา “ถ้าไม่เสร็จ”ต้องบันทึกเหตุล่าช้า และกำหนดระยะเวลาที่คาดว่าจะแล้วเสร็จเร็วที่สุด รายงาน และแสดงหลักฐาน ให้ผู้บังคับบัญชาทราบ เพื่อพิจารณาสั่งการ แล้วแจ้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทราบ “ถ้าไม่รายงาน” ผู้บังคับบัญชาหรือล่าช้าเกินสมควรแก่เหตุ/ไม่มีเหตุสมควร หรือไม่แจ้งผู้เกี่ยวข้องทราบ ให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณา “ดำเนินการทางวินัย”
  4. มีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ/วิธีการให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าถึงข้อมูล/ตรวจสอบความคืบหน้าการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม
  5. มีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ/วิธีการให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลของคดีที่มีผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ
  6. มีผู้รับผิดชอบเฉพาะรับเรื่องความเดือดร้อนจากความล่าช้า หรือตรวจสอบความคืบหน้าของการดำเนินงาน แล้วแจ้งผลภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง และรายงานผู้บังคับบัญชาทราบทุกครั้ง
  7. มีข้อมูลสถิติ ระยะเวลาการดำเนินงานแต่ละขั้นตอน ผลการดำเนินงาน เผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนทราบทุกปี
  8. ตรวจสอบขั้นตอน ระยะเวลาการดำเนินงานว่าเหมาะสมหรือไม่ ถ้าไม่เหมาะสมให้มีมาตรการพัฒนา/ปรับปรุงหน่วยงานหรือระบบการปฏิบัติราชการของหน่วยงาน อย่างน้อยดำเนินการทุก 3 ปี

อ้างอิง : พระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565