ค้นหา

Q&A : โฆษณาเกินจริง ผิดกฎหมาย?

ปัจจุบันมีเซเลบิตี้ คนดัง Net idol Youtuber สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มาขายกันมากมาย พร้อมด้วยการโฆษณาผลิตภัณฑ์มากมาย แต่ก็ต้องระวังการโฆษณาเกินจริงด้วยนะครับ … แล้วการโฆษณาเเบบไหนถึงจะไม่ผิดกฎหมายกันนะ

การคุ้มครองผู้บริโภคในด้านการโฆษณา

มาตรา 22 การโฆษณาจะต้องไม่ใช้ข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือใช้ข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมส่วนรวม ทั้งนี้ ไม่ว่าข้อความดังกล่าวนั้น จะเป็นข้อความที่เกี่ยวกับแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ หรือลักษณะของสินค้าหรือบริการ ตลอดจนการส่งมอบ การจัดหา หรือการใช้สินค้าหรือบริการ
ข้อความต่อไปนี้ ถือว่าเป็นข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือเป็นข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมส่วนรวม
(1) ข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง
(2) ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะกระทำโดยใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริงหรือไม่ก็ตาม
(3) ข้อความที่เป็นการสนับสนุนโดยตรงหรือโดยอ้อมให้มีการกระทำผิดกฎหมายหรือศีลธรรม หรือนำไปสู่ความเสื่อมเสียในวัฒนธรรมของชาติ
(4) ข้อความที่จะทำให้เกิดความแตกแยกหรือเสื่อมเสียความสามัคคีในหมู่ประชาชน
(5) ข้อความอย่างอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ข้อความที่ใช้ในการโฆษณาที่บุคคลทั่วไปสามารถรู้ได้ว่าเป็นข้อความที่ไม่อาจเป็นความจริงได้โดยแน่แท้ ไม่เป็นข้อความที่ต้องห้ามในการโฆษณาตาม (1)

มาตรา 27 กรณีที่คณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาเห็นว่าการโฆษณาฝ่าฝืนมาตรา 22 ให้คณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณามีอำนาจออกคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้
(1) ให้แก้ไขข้อความหรือวิธีการโฆษณา
(2) ห้ามใช้ข้อความบางอย่างที่ปรากฏในการโฆษณา
(3) ห้ามโฆษณาหรือห้ามใช้วิธีการนั้นโฆษณา
(4) ให้โฆษณาเพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดของผู้บริโภคที่อาจเกิดขึ้นแล้วตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณากำหนด
ในการออกคำสั่งตาม (4) ให้คณะกรมการว่าด้วยการโฆษณากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการโดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้บริโภคประกอบกับความสุจริตใจในการกระทำของผู้โฆษณา
* กรณีคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณามีคำสั่งตาม (4) และผู้ประกอบธุรกิจไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง คณะกรรมการฯ อาจเข้าดำเนินการการแทนผู้ประกอบธุรกิจและให้ผู้ประกอบธุรกิจมีหน้าที่ชดใช้ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นนั้น โดยบังคับตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง

มาตรา 28 กรณีที่คณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณามีเหตุสงสัยว่า ข้อความใดที่ใช้ในการโฆษณาเป็นเท็จหรือเกินความจริงตามมาตรา 22 วรรคสอง (1) ให้คณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณามีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้โฆษณาพิสูจน์เพื่อแสดงความจริงได้
กรณีที่ผู้โฆษณาอ้างรายงานทางวิชาการ ผลการวิจัย สถิติ การรับรองของสถาบันหรือบุคคลอื่น หรือยืนยันข้อเท็จจริงในการโฆษณา ถ้าผู้โฆษณาไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าข้อความที่ใช้ในการโฆษณาเป็นความจริงตามที่กล่าวอ้าง ให้คณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณามีอำนาจออกคำสั่งตามมาตรา 27 ได้ และให้ถือว่าผู้โฆษณารู้หรือควรได้รู้ว่าข้อความนั้นเป็นเท็จ

ความผิดและบทลงโทษ

มาตรา 47 เจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือผู้อื่น โฆษณาหรือใช้ฉลากที่มีข้อความเป็นเท็จหรือข้อความที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเช่นว่านั้น : จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
*ถ้ากระทำผิดซ้ำอีก : จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 48 ผู้โฆษณาโดยใช้ข้อความตามมาตรา 22 (3) หรือ (4) หรือ (5) : ปรับไม่เกิน 30,000 บาท

มาตรา 49 ผู้ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาตามมาตรา 27 หรือมาตรา 28 วรรคสอง : จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พระราชบัญัญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522