ค้นหา

Q&A : พูดจาให้ร้ายเจ้าพนักงาน มีความผิดหรือไม่?

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136

การใช้คำพูด กริยาท่าทาง วิธีการอย่างอื่นที่เจตนาดูหมิ่น ดูถูก เหยียดหยาม ทำให้อับอาย เสียหาย เป็นที่เกลียดชัง สบประมาท หรือด่าเจ้าพนักงาน “ขณะปฎิบัติหน้าที่” หรือ “ได้กระทำการตามหน้าที่” ต้องรับโทษไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“ความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน” ตามปอ.มาตรา 136 ต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อย 3 ประการ คือ

  1. “ดูหมิ่น” ไม่มีข้อกฎหมายบัญญัติคำนิยามไว้ชัดเจน แต่มีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาตีความไว้ เช่น ฎ. ที่ 1623/2551 อธิบายว่า “ดูหมิ่น” หมายถึง การดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท หรือทำให้อับอาย การวินิจฉัยว่าพูดอย่างไรเป็นการดูหมิ่นหรือไม่ ? ต้องพิจารณาถ้อยคำที่พูดเป็นการดูถูกเหยียดหยามสบประมาทผู้ที่ถูกพูดถึง หรือเป็นการทำให้ผู้ถูกพูดถึงอับอายหรือไม่…
  2. “เจ้าพนักงาน” หมายถึง บุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นเจ้าพนักงาน หรือได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่ว่าเป็นประจำหรือครั้งคราว และไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่
  3. “กระทำตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำตามหน้าที่” ความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานจะต้องเป็นการดูหมิ่นที่เกี่ยวกับการทำงานด้วย เช่น ดูหมิ่นตำรวจที่ตั้งด่านตรวจ ดูหมิ่นครูที่สอนหนังสือ ดูหมิ่นหมอที่รักษาคนไข้ ประเด็นส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับการทำงานตามหน้าที่ ก็ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรา 136

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8422/2558

การที่จำเลยที่ 1 พูดจาให้ร้ายผู้เสียหายขณะปฏิบัติหน้าที่เข้าตรวจค้นร้านโดยใช้คำว่า “ปลัดส้นตีน” ซึ่งเป็นคำดูหมิ่นเหยียดหยาม เป็นการกระทำความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 สำเร็จแล้วกระทงหนึ่ง
ส่วนการที่จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวหรือความตกใจโดยการขู่เข็ญขณะที่ผู้เสียหายเข้าตรวจภายในร้าน โดยจำเลยที่ 1 พูดขึ้นว่า “ไปเอาปืนมายิงให้ตาย อย่าให้ออกไปได้” แล้วจำเลยที่ 2 วิ่งไปหยิบไม้เบสบอลมาตีผู้เสียหาย 1 ที จำเลยที่ 1 เอาไม้กวาดไล่ตีผู้เสียหาย เป็นการกระทำต่อเนื่องกันไป โดยมีเจตนาเดียวกันคือทำร้ายผู้เสียหาย จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวกับการร่วมกันใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8016/2556

จำเลยกล่าวถ้อยคำว่า “ตำรวจแม่ง…ใช้ไม่ได้” เพราะรู้สึกว่าเจ้าพนักงานตำรวจไม่ให้ความสำคัญต่อคำชี้แจงของตน ทำให้จำเลยรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงกล่าวตำหนิการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจ อันเป็นเพียงคำกล่าวที่ไม่สุภาพและไม่สมควรเท่านั้น แต่ไม่ถึงขั้นมุ่งหมายที่จะด่า ดูถูกเหยียบหยามหรือสบประมาทเจ้าพนักงานตำรวจแต่อย่างใด
จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 136

รายละเอียดเพิ่มเติม : ระบบสืนค้นคำพิพากษาฯ ศาลฎีกา คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8422/2558, 8016/2556

อ้างอิง : ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136

เสียงความรู้กฎหมาย ตอนที่ 218 ดูหมิ่นเจ้าหน้าที่