ค้นหา

กฎหมายน่ารู้ 89 ทางเลือก “ทำแท้ง” ปลอดภัยทำอย่างไรไม่ผิดกฎหมาย

กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศ เรื่อง การตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์ ตามมาตรา 305 (5) แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2565 ประกาศฉบับนี้ ได้กำหนดให้หญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้โดยไม่ถือเป็นความผิดทางอาญา แต่หญิงนั้นต้องได้รับคำปรึกษาจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่นตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดโดยคำแนะนำแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เพื่อให้หญิงนั้นได้รับข้อมูลที่รอบด้านก่อนการตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์

5 เหตุผลทำแท้งตามกฎหมาย  ไม่มีความผิด ถ้าทำโดย #ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม #หญิงยินยอม #ดำเนินการตามข้อบังคับแพทย์สภา ดังนี้

  1. มีครรภ์ต่อไปแล้วจะเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายต่อสุขภาพทางกาย/จิตใจ
  2. มีครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ
  3. มีความเสี่ยงมาก/มีเหตุผลทางการแพทย์ที่เชื่อได้ว่าถ้าคลอดออกมาจะมีความผิดปกติถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง
  4. อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ และหญิงยืนยันทำแท้ง
  5. อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ต้องได้รับการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่น ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุขประกาศกำหนดฯและหญิงยืนยันทำแท้ง
ทำแท้ง

หากหญิงที่ทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกขณะมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ประมวลกฎหมายอาญา : มาตรา 301 หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ขณะมีอายุครรภ์เกินสิบสองสัปดาห์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขั้นตอนการตรวจรับคำปรึกษา

1. ทางเลือกหญิงขอรับคำปรึกษาการยุติการตั้งครรภ์ (แจ้งเรื่องด้วยวาจา เป็นหนังสือ โทรศัพท์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์) 
2. หน่วยบริการ เช่น
– ปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม สายด่วน 1663
– สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย โทร. 0 2590 4171
– กรมอนามัย สายด่วน 1478
– ศูนย์พึ่งได้หรือคลินิกวัยรุ่นของโรงพยาบาลภาครัฐ
– หน่วยบริการเครือข่ายอาสา RSA THAI และระบบออนไลน์
3. ตรวจวินิจฉัย/ประเมินอายุครรภ์ ตามข้อบังคับแพทยสภา
4. หน่วยบริการปรึกษาทางเลือก ให้คำปรึกษา
– รับฟังปัญหาด้วยความใสใจและเป็นมิตร
– ไม่ตรีตราตัดสินการกระทำนี้
– ให้ข้อมูลทางการแพทย์เบื้องต้น ประกอบการตัดสินใจ
– ให้อิสระ ไม่โน้ทน้าว บีบบังคับ
– รักความลับการปรึกษาทางเลือกและการยุติการตั้งครรภ์
5. หากต้องการตั้งครรภ์ต่อ
– ได้รับการดูแล/ช่วยเหลือสวัสดิการสังคมการตั้งครรภ์/คลอด/เลี้ยงดูบุตร
6. หากยืนยันยุติการตั้งครรภ์
– อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ : ออกเอกสารยืนยันผ่านการตรวจและรับคำปรึกษา และให้ยุติการตั้งครรภ์และพิจารณาให้การ ดูแล/ช่วยเหลือ/สวัสดิการสังคมการยุติการตั้งครรภ์
–  อายุครรภ์เกิน 20 สัปดาห์ : ต้องมีเหตุยุติการตั้งครรภ์ตามกฎหมาย (ข้อ 1,2,3) ให้ดำเนินการตามข้อบังคับแพทยสภา

การทำแท้งหรือการยุติการตั้งครรภ์เป็นปัญหาทั้งทางสังคมทางการแพทย์ และทางกฎหมายที่มีความละเอียดอ่อน รวมทั้งเป็นประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมและศีลธรรม ซึ่งถือว่าเป็นความผิดทางอาญาและกำหนดโทษแก่หญิงเพียงฝ่ายเดียวที่ทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก

ความผิดฐานทำให้แท้งลูกมีเจตนารมณ์และคุณธรรมทางกฎหมายที่ต้องการคุ้มครองชีวิตของทารกในครรภ์ โดยเห็นถึงความสำคัญและคุณค่าของชีวิตมนุษย์ที่กำลังจะเกิดมาแต่เนื่องจากรากฐานของสังคมไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเห็นคุณค่ของชีวิตมนุษย์เพียงเท่านั้น แต่ยังต้องมีปัจจัยอื่นที่สำคัญเป็นรากฐานของสังคมประกอบด้วยเช่นเดียวกับการคุ้มครองสิทธิในการมีชีวิตของทารกในครรภ์

หากมุ่งคุ้มครองสิทธิของทารกในครรภ์เพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้พิจารณาการคุ้มครองสิทธิของหญิงผู้ตั้งครรภ์ ที่มีมาก่อนสิทธิของทารกในครรภ์เป็นสิ่งที่อาจส่งผลกระทบให้หญิงไม่ได้รับความเป็นธรรมและถูกลิดรอนหรือจำกัดสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของหญิงซึ่งเป็นสิทธิตามธรรมชาติ อันเป็นสิทธิพื้นฐานของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะกระทำการใดหรือไม่กระทำการใดต่อชีวิตและร่างกายของตนได้ตราบเท่าที่การกระทำนั้นไม่ไปรบกวนหรือล่วงล้ำเข้าไปในสิทธิหรือเสรีภาพของผู้อื่น รวมทั้งยังส่งผลกระทบถึงสิทธิในการกำหนดเจตจำนงของหญิงตั้งครรภ์ที่ครอบคลุมไปถึงสิทธิในการตัดสินใจของหญิงว่าจะยุติการตั้งครรภ์หรือตั้งครรภ์ต่อไปหรือไม่

อ้างอิง : ประมวลกฎหมายอาญา : ความผิดฐานทำแท้งลูก (มาตรา 301 – 305) , ประกาศกระทรวงสาธารณะสุข เรื่อง การตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์ตามมาตรา 305 (5) แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2565