ค้นหา

การยักย้าย หรือปิดบังทรัพย์มรดก : คำนี้ในกฎหมาย

การเคลื่อนย้าย ถ่ายเท ซ่อนเร้นทรัพย์มรดก ทั้งในส่วนที่ตนเองจะได้รับหรือไม่ได้รับ เพื่อให้ทายาทคนอื่นเสียประโยชน์

พ่อมีลูก 2 คน คือนายขาวและนายดำ พ่อมีมรดกเป็นเงิน 100,000 บาท กับรถยนต์ส่วนบุคคล 1 คัน

ก่อนตาย พ่อได้ทำพินัยกรรม ยกรถยนต์คันดังกล่าวให้นายขาว เมื่อพ่อตาย นายขาวมีสิทธิได้รับรถยนต์ตามพินัยกรรม และเงินที่เป็นมรดกอีก 50,000 บาท

ถ้านายขาว ‘ยักย้ายเงินอันเป็นมรดก’ นี้ไป 70,000 บาท

นายขาวจะถูก ‘กำจัดไม่ให้รับมรดก’ ในฐานะทายาทโดยธรรม เพราะยักย้ายมรดกเกินกว่าที่ตนจะได้รับ แต่ขาวยังมีสิทธิได้รับรถยนต์ตามพินัยกรรม

ลักษณะของการยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดก

การยักย้าย หมายถึง การเอาทรัพย์มรดกซึ่งเป็น ‘สังหาริมทรัพย์’ ไปจากที่ที่เคยอยู่ เป็นการเคลื่อนย้ายทางกายภาพ และยังรวมถึง ‘ทรัพย์สิน’ ซึ่งเป็นสิ่งไม่มีรูปร่างด้วย เช่น ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความลับทางการค้า เป็นต้น

การปิดบัง หมายถึง การอำพรางซ่อนเร้นทรัพย์สินเพื่อไม่ให้ใครรู้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์มรดก อาจเป็นทรัพย์ หรือ ทรัพย์สินก็ได้ที่ถูกปิดบัง โดยในที่นี้หมายถึงเอกสารแสดงสิทธิ์ในทรัพย์สินด้วย . . ช่วงเวลาในการยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดก เกิดขึ้นได้ 2 ช่วง
1. การยักย้าย หรือ ปิดบังทรัพย์มรดก ‘หลังจาก’ ที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย เพราะหากเจ้ามรดกมีชีวิตอยู่ จะยังไม่มีทรัพย์ใดที่เป็นมรดก
2. กรณีที่ทายาทได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกตั้งแต่ ‘ก่อน’ เวลาเจ้า มรดกตายโดยประสงค์ทำต่อเนื่องกันไปจนเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย (หรือ กระทำต่อไปถึงหลังจากที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย) ถือว่าเป็นการยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกได้เช่นกัน

***ข้อสังเกตุ***
1. กรณีการทำลายทรัพย์มรดก ‘ไม่’ ถือเป็นการยักย้ายหรือปิดบัง มีความผิดทางละเมิดต่อทายาทคนอื่น ๆ (กรณีนี้หมายถึงทำลายทรัพย์มรดกโดยที่ไม่ได้มีการยักย้ายหรือปิดบังมาก่อน)
2. กรณียักย้าย หรือ ปิดบังทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ทรัพย์มรดกก็จะไม่ถูกกำจัดไม่ให้รับมรดก
ที่มา : ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605