ค้นหา

คำนี้ในกฎหมายแปลว่าอะไร? : ผู้เสมือนไร้ความสามารถ

#ผู้เสมือนไร้ความสามารถ : คำนี้ในกฎหมายแปลว่าอะไร?..คนเสมือนไร้ความสามารถ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 32 นั้น หมายถึง….บุคคลที่กายพิการหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเป็นอาจิณ หรือติดสุรายาเมา หรือมีเหตุอื่นทำนองเดียวกันนั้น จนไม่สามารถที่จะจัดกิจการงานของตนเองได้ หรืออาจจัดกิจการงานของตนเองไปในทางที่เสื่อมเสียต่อทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว.เมื่อผู้มีสิทธิร้องขอตามกฎหมายยื่นคำร้องต่อศาล ศาลอาจสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ ซึ่งจะเกิดผลในทางกฎหมายคือ.. คนเสมือนไร้ความสามารถต้องอยู่ในความดูแลของผู้พิทักษ์ และการทำนิติกรรมบางชนิดต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อนจึงจะทำได้ หากทำนิติกรรมลงไปโดยไม่ได้รับความยินยอม นิติกรรมนั้นเป็นโมฆียะ

หลักเกณฑ์แห่งการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ ปรากฏอยู่ในมาตรา 32 อาจแยกหลักเกณฑ์การเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ ได้เป็น 3 ประการ คือ

1. มีเหตุบกพร่อง

2. เพราะเหตุบกพร่องดังกล่าวทำให้ไม่สามารถจัดการงานของตนได้ หรือจัดการไปในทางที่เสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนหรือครอบครัว

3. มีคำสั่งศาลให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ

เหตุบกพร่องที่อาจทำให้บุคคลถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ มี 5 ประการ

1. กายพิการ หมายถึง ร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งพิการหรือไม่สมประกอบ หรือเป็นอัมพาต เคลื่อนไหวตัวไม่ได้ เหตุที่ทำให้กายพิการนี้อาจมีมาแต่กำเนิด หรือเกิดขึ้นภายหลัง เพราะป่วยเจ็บ ชราภาพหรืออุบัติเหตุก็ได้

2. จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ คือ ผู้ที่มีจิตไม่ปกติ เพราะโรคจิตหรือสมองพิการแต่ไม่ถึงกับวิกลจริต กล่าวคือ เป็นบุคคลที่ยังมีความรู้สึกผิดชอบอยู่บ้าง ไม่ใช่ไร้สติเสียเลยทีเดียว แต่ความรู้สึกผิดชอบอาจเลอะเลือนไปบางครั้งบางคราว เหตุที่ทำให้จิตฟั่นเฟือนนี้ อาจเป็นมาแต่กำเนิด หรือเป็นภายหลังก็ได้ ไม่ว่าเพราะป่วยเจ็บ แก่ชรา หรืออุบัติเหตุ

3. ประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ หมายถึง บุคคลที่มีนิสัยใช้จ่ายเงินทองอย่างไม่จำเป็นและไร้ประโยชน์เข้าลักษณะฟุ่มเฟือยโดยไม่มีเหตุผลสมควร และมีรายจ่ายเกินกว่ารายได้อยู่ประจำ

*ลักษณะการใช้จ่ายเงินทองของผู้ประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณมี 3 ประการ คือ

  • ใช้จ่ายเกินกว่ารายได้
  • การใช้จ่ายเกินรายได้นี้ เป็นการใช้จ่ายอย่างไร้ประโยชน์และปราศจากเหตุผลในแง่เศรษฐกิจ
  • การใช้จ่ายอย่างไร้ประโยชน์นี้ ต้องเป็นการกระท าที่ปฏิบัติเป็นประจำจนเป็นอาจิณหรือจนเป็นปกติ

4. ติดสุรายาเมา หมายถึง การติดสิ่งเสพติดด้วยสิ่งมึนเมาชนิดใดก็ได้ เช่น ติดยาบ้า ติดกัญชา ติดเฮโรอีน ติดสุรา ยาดองเหล้า หรือของมึนเมาอย่างอื่นทำนองเดียวกัน แต่ข้อสำคัญคือต้องเป็นการติดแบบเป็นประจำ ขาดไม่ได้ ผู้ที่ติดสุรายาเมาเช่นว่านี้มักไม่มีสติควบคุมร่างกายและจิตใจได้ จึงไม่สามารถจัดการงานของตนเองได้อย่างบุคคลทั่วไป หรืออาจจัดกิจการไปในทางที่เสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตัวเองดังนั้น หากเป็นการดื่มสุราเพื่อการสังสรรค์ก็ไม่เข้ามาตรา 32 หรือกรณีที่เป็นโรคตับแข็งเพราะดื่มสุรามาก แต่ยังสามารถจัดกิจการงานของตนได้อยู่ ก็ไม่เข้ามาตรานี้เช่นเดียวกัน

5. เหตุอื่นทำนองเดียวกัน จะต้องเป็นเหตุที่ถึงขนาดทำให้บุคคลนั้นไม่สามารถจัดกิจการงานของตนเองได…ผู้มีสิทธิร้องขอต่อศาลให้ศาลมีคำสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ

  • สามีหรือภริยาของคนเสมือนไร้ความสามารถ
  • ผู้บุพการี หมายถึง บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย ทวด และรวมถึงบิดามารดาบุญธรรมตามกฎหมาย
  • ผู้สืบสันดาน หมายถึง ญาติสืบสายโลหิตโดยตรงลงมา เป็นผู้สืบสันดานตามความเป็นจริง ได้แก่ลูก หลาน เหลน ลื่อ
  • ผู้ปกครอง
  • ผู้พิทักษ์
  • ผู้ซึ่งปกครองดูแลผู้เยาว์
  • พนักงานอัยการ

การสิ้นสุดความเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ ตามป.พ.พ. มาตรา 36 บัญญัติว่า….

“ถ้าเหตุที่ศาลได้สั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถได้สิ้นสุดไปแล้วให้นำบทบัญญัติ มาตรา 31มาใช้บังคับโดยอนุโลม”

ป.พ.พ. มาตรา 36

ความสิ้นสุดแห่งการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถตามบทบัญญัติดังกล่าว อาจแยกออกได้เป็น 3 กรณี คือ

1. สิ้นสุดลงโดยการตายของคนเสมือนไร้ความสามารถ

2. สิ้นสุดลงเพราะเปลี่ยนฐานะคนเสมือนไร้ความสามารถได้กลายเป็นคนไร้ความสามารถ

3. สิ้นสุดลงเพราะเหตุบกพร่อง ตามมาตรา 34 หมดสิ้นไป เช่น ประพฤติตนเป็นคนดีไม่สุรุ่ยสุร่าย หรือเลิกเสพสุรายาเมา หรือหายจากอาการจิตฟั่นเฟือนแล้ว และศาลมีคำสั่งเพิกถอนให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถแล้ว

ในกรณีที่เหตุแห่งการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถได้สิ้นสุดไปแล้ว การร้องขอต่อศาลก็ให้ศาลสั่ง “เพิกถอน” คำสั่งที่ให้เป็นคนไร้ความสามารถนั้น ผู้มีสิทธิร้องขอให้ศาลสั่งถอนคำสั่งเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ ได้แก่

  • สามีหรือภริยาของคนเสมือนไร้ความสามารถ
  • ผู้บุพการี หมายถึง บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย ทวด และรวมถึงบิดามารดาบุญธรรมตามกฎหมาย
  • ผู้สืบสันดาน หมายถึง ญาติสืบสายโลหิตโดยตรงลงมา เป็นผู้สืบสันดานตามความเป็นจริง ได้แก่ลูก หลาน เหลน ลื่อ
  • ผู้ปกครอง
  • ผู้พิทักษ์
  • ผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้นอยู่
  • พนักงานอัยการ

คำสั่งของศาลให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อศาลเพิกถอนคำสั่งเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ จะต้องโฆษณาคำสั่งในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ คำสั่งเพิกถอนของศาลนั้นเริ่มตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง มิได้มีผลย้อนหลังขึ้นไปถึงวันที่หายจากอาการวิกลจริต หรือวันยื่นคำร้องต่อศาล หรือมีผลตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา