ค้นหา

ลาภมิควรได้ : คำนี้ในกฎหมายแปลว่าอะไร?

#ลาภมิควรได้ : คำนี้ในกฎหมาย คือ การที่บุคคลหนึ่งได้ทรัพย์สิ่งใดมาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้บุคคลอีกคนหนึ่งเสียเปรียบ บุคคลที่ได้ทรัพย์มานั้นมีหน้าที่ต้องคืนทรัพย์ให้แก่เขา

ลาภมิควรได้

การกระทำที่จะเข้าตามหลักเรื่องลาภมิควรได้ มีองค์ประกอบ 4 ประการ คือ

1. ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์ที่ได้เพิ่มมานั้น ต้องมีลักษณะที่เป็นการทำให้ลาภงอก เพิ่มพูนขึ้นจากกองทรัพย์สินไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม ไม่ใช่ได้มาซึ่งการครอบครองหรือสิทธิครอบครอง แต่ต้องเป็นการได้มาในลักษณะเดียวกันกับการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ แม้ในความเป็นจริงแล้วจะไม่ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ก็ตาม

2. เป็นการได้มาโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ กล่าวคือ เป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายให้สิทธิแก่บุคคลที่ได้รับทรัพย์สินนั้นไว้ ซึ่งอาจเป็นเรื่องการชำระหนี้ที่ไม่มีความผูกพัน หรือการสำคัญผิดตัวเจ้าหนี้ หรือการสำคัญผิดในมูลหนี้ หรือไม่ว่าจะได้มาด้วยเหตุอื่นใดก็ดีที่มี เหตุได้มาโดยไม่มีกฎหมายรองรับไว้ โดยผู้ที่ได้รับทรัพย์มานั้นจะต้องคืนให้แก่ผู้ให้ ในมูลเหตุที่จะอ้างตามกฎหมายนี้อาจเป็นมูลเหตุตามบทบัญญัติของกฎหมายหรืออาศัยมูลเหตุตามนิติกรรมก็ได้

3. เป็นทางให้บุคคลอีกคนหนึ่งเสียเปรียบ กล่าวคือ การที่บุคคลได้รับทรัพย์สินหรือผลประโยชน์เพิ่มขึ้นมานั้นทำให้บุคคลที่เป็นเจ้าของทรัพย์จะต้องสูญเสียทรัพย์ของเขาไปโดยไม่สมควรที่จะเสียปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างตามกฎหมาย เกิดการสูญเสียทรัพย์สิ่งใดที่อีกฝ่าย หนึ่งได้ลาภงอกไป สอดคล้องกับผลประโยชน์ของอีกฝ่ายหนึ่งที่ได้รับ

4. ไม่มีทางแก้ตัวตามกฎหมายอย่างอื่น หมายความว่า บุคคลผู้ต้องสูญเสียทรัพย์สินหรือผลประโยชน์นั้น ไม่มีทางเรียกร้องทางอื่นได้อีกแล้ว เช่น เรียกร้องในมูลเหตุของสัญญาหรือมูลละเมิดหรือจัดการงานนอกสั่งหรือสิทธิตามกฎหมายอื่นใด กล่าวคือ การเรียกคืนลาภมิควรได้นั้น เป็นหนทางสุดท้ายที่ผู้เรียกร้องหมดทางที่จะเรียกเอาจากทางอื่นแล้ว

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406 ได้บัญญัติไว้ว่า

“บุคคลใดได้มาซึ่งทรัพย์สิ่งใด เพราะการที่บุคคลอีกคนหนึ่งกระทำเพื่อชำระหนี้ก็ดี หรือได้มาด้วยประการอื่นก็ดี โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเสียเปรียบไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นจำต้องคืนทรัพย์ให้แก่เขา อนึ่งการรับสภาพหนี้สินว่ามีอยู่หรือหาไม่นั้น ท่านก็ให้ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อชำระหนี้ด้วยบทบัญญัติอันนี้ท่านให้ใช้บังคับตลอดถึงกรณีที่ได้ทรัพย์มา เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งมิได้มีได้เป็นขึ้น หรือเป็นเหตุที่ได้สิ้นสุดไปเสียก่อนแล้วนั้นด้วย”

โดยปกติแล้ว บุคคลผู้ได้รับทรัพย์สินหรือผลประโยชน์ที่มีองค์ประกอบเข้าตามหลักเรื่อง ลาภมิควรได้จะต้องคืนทรัพย์สินที่ได้มานั้นให้กับเจ้าของกรรมสิทธิ์ ยกเว้นบางกรณีที่กฎหมายบัญญัติว่าไม่ต้องคืนทรัพย์สินหรือผลประโยชน์ดังกล่าว เช่น เป็นการชำระหนี้โดยรู้อยู่แล้วว่า ตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระอันเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจ หรือเป็นการชำระหนี้โดย ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี เป็นต้น

กรณีที่ไม่มีสิทธิได้รับคืนทรัพย์

(1) บุคคลใดได้กระทำการอันใดตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ (มาตรา 407)
(2) บุคคลผู้ชำระหนี้อันมีเงื่อนเวลาบังคับเมื่อก่อนถึงกำหนดเวลานั้น (มาตรา 408 (1))
(3) บุคคลผู้ชำระหนี้ซึ่งขาดอายุความแล้ว (มาตรา 408 (2))
(4) บุคคลผู้ชำระหนี้ตามหน้าที่ศีลธรรม หรือตามควรแก่อัธยาศัยในสมาคม (มาตรา 408 (3))
(5) บุคคลผู้หนึ่งผู้ใดซึ่งมิได้เป็นลูกหนี้ได้ชำระหนี้ไปโดยสำคัญผิด เป็นเหตุให้เจ้าหนี้ผู้ทำการโดยสุจริตได้ทำลาย หรือลบล้างเสียซึ่งเอกสารอันเป็นพยานหลักฐานแห่งหนี้ก็ดี ยกเลิกหลักประกันเสียก็ดี สิ้นสิทธิไปเพราะขาดอายุความก็ดี เจ้าหนี้ไม่จำต้องคืนทรัพย์ (มาตรา 409)
(6) บุคคลผู้ใดได้ทำการชำระหนี้โดยมุ่งต่อผลอย่างหนึ่ง แต่มิได้เกิดผลขึ้นเช่นนั้น ถ้าและบุคคลนั้นได้รู้มาแต่แรกว่าการที่จะเกิดผลนั้นเป็นพ้นวิสัยก็ดี หรือได้เข้าป้องปัดขัดขวางเสียมิให้เกิดผลเช่นนั้นโดยอาการอันฝ่าฝืนความสุจริตก็ดี (มาตรา 410)
(7) บุคคลซึ่งได้กระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี (มาตรา 411)

การคืนทรัพย์

(1) กรณีทรัพย์ที่รับไว้เป็นเงิน การคืนเงินต้องคืนเต็มจำนวน เว้นแต่รับไว้โดยสุจริต จึงต้องคืนลาภมิควรได้เพียงส่วนที่ยังมีอยู่ในขณะเมื่อเรียกคืน (มาตรา 412)
(2) กรณีทรัพย์สินอันจะต้องคืนนั้นเป็นอย่างอื่นนอกจากจำนวนเงิน และบุคคลได้รับไว้โดยสุจริต บุคคลนั้นจำต้องคืนทรัพย์สินเพียงตามสภาพที่เป็นอยู่ (มาตรา 413 วรรคแรก)
(3) กรณีทรัพย์สินอันจะต้องคืนนั้นเป็นอย่างอื่นนอกจากจำนวนเงิน และบุคคลได้รับไว้โดยทุจริต บุคคลนั้นก็จะต้องรับผิดชอบในการสูญหายหรือบุบสลายนั้นเต็มภูมิ แม้กระทั่งการสูญหายหรือบุบสลายจะเกิดเพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร ทรัพย์สินนั้นก็คงต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง (มาตรา 413 วรรคสอง)
(4) ถ้าการคืนทรัพย์ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะสภาพแห่งทรัพย์สินที่ได้รับไว้นั้นเองก็ดี หรือเพราะเหตุอย่างอื่นก็ดี และบุคคลได้รับทรัพย์สินไว้โดยสุจริต บุคคลเช่นนั้นจำต้องคืนลาภมิควรได้เพียงส่วนที่ยังมีอยู่ในขณะเมื่อเรียกคืน (มาตรา 414 วรรคแรก) แต่ถ้ารับไว้โดยทุจริต ก็ต้องใช้ราคาทรัพย์สินนั้นเต็มจำนวน (มาตรา 414 วรรคสอง)

อ้างอิง : ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406