ค้นหา

ยับยั้งหรือกลับใจแก้ไข : คำนี้ในกฎหมายแปลว่าอะไร ?

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 82
“ผู้ใดพยายามกระทำความผิด หากยับยั้งเสียเองไม่กระทำการให้ตลอด หรือกลับใจแก้ไขไม่ให้การกระทำนั้นบรรลุผล ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับการพยายามกระทำความผิดนั้น แต่ถ้าการที่ได้กระทำไปแล้วต้องตามบทกฎหมายที่บัญญัติเป็นความผิด ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้นๆ” หรือก็คือ “#ยับยั้งหรือกลับใจแก้ไข” หมายถึงการที่ผู้ใดพยายามทำความผิด แต่ได้เกิดการยับยั้งเองไม่ทำการนั้นจนตลอด หรือ กลับใจแก้ไขไม่ให้การทำผิดนั้นบรรลุผล

หลักเกณฑ์การยับยั้งกลับใจ มีดังนี้
1. ผู้กระทำจะต้อง “ลงมือ” กระทำความผิดแล้ว
2. ความผิดที่กระทำยังไม่สำเร็จผลตามที่ผู้กระทำเจตนา
3. ผู้กระทำได้กระทำ ดังนี้
3.1 ได้ “ยับยั้ง”เสียเอง ไม่กระทำให้ตลอด
3.2 ได้กระทำไปตลอดแล้ว แต่ “กลับใจแก้ไข” ไม่ให้การกระทำนั้นบรรลุผล
4. การยับยั้งหรือกลับใจนั้นต้องเป็นไปโดยความสมัครใจ เกิดจากการที่ผู้กระทำความผิด “สำนึกผิดด้วยใจอันบริสุทธิ์” ที่รู้สำนึกว่าสิ่งที่ตนเองกระทำนั้นเป็นความผิด มิใช่เกิดจากการที่ผู้กระทำความผิดกลัวว่าผู้อื่นจะทราบว่าตนได้กระทำความผิดและเกรงว่าจะถูกจับกุมนำตัวมาลงโทษ

ผลของการยับยั้งหรือกลับใจการยับยั้งหรือกลับใจแก้ไขนั้น ลบล้างเฉพาะโทษในความผิดฐานพยายาม ส่วนความผิดอื่น ๆ ที่กระทำไปจนสำเร็จแล้วนั้น การยับยั้งกลับใจไม่มีผลลบล้างโทษได้

ตัวอย่าง คำพิพากษา 508/2529
จำเลยจ้องปืนไปยัง ธ. โดยใช้นิ้วมือสอดเข้าไปในโกร่งไกปืนแต่เมื่อธ. วิ่งหนีขึ้นบ้านจำเลยก็ไม่ได้วิ่งตามกลับใจจ้องปืนมายัง ว. แทนทั้งที่มีโอกาสจะยิง ธ. ได้และเมื่อ ว. พูดกับจำเลยว่าตนไม่เกี่ยวพร้อมกับยกมือขึ้นป้องแล้วเข้าไปหลังบ้านเข้าไปซ่อนตัวในป่าจำเลยก็ไม่ได้ตาม ว. ไปทั้งที่มีโอกาสจะยิงได้แสดงว่าจำเลยได้ยับยั้งเสียเองไม่กระทำการให้ตลอดจำเลยจึงไม่ต้องรับโทษในความผิดฐานพยายามฆ่า ธ. และ ว.