ค้นหา

ทำผิดอาญาใน-นอกประเทศไทย ขึ้นศาลที่ไหน?

กฎหมายน่ารู้ : 43 ทำผิดอาญาใน-นอกประเทศไทย ขึ้นศาลที่ไหน?

คนไทยทำความผิดที่ต่างประเทศ ศาลไทยจะมีอำนาจลงโทษหรือไม่? แล้วชาวต่างชาติที่ทำความผิดในประเทศไทยหรือทำผิดแล้วคนไทยได้รับความเสียหาย ศาลไทยจะลงโทษได้หรือไม่? อันดับแรกต้องมาดูขอบเขตการใช้กฎหมายอาญากันก่อนนะครับ

ขอบเขตการใช้กฎหมายอาญามีหลักอยู่ 3 ข้อ

1. หลักดินแดน ให้ดูพื้นที่ที่กระทำความผิดอยู่ในมาตรา 4 มาตรา 5 และมาตรา 6 (ปอ.)

2. หลักอำนาจลงโทษสากล ให้ดูประเภทของความผิดอยู่ในมาตรา 7 (ปอ.)

3. หลักบุคคล อยู่ในมาตรา 8 และมาตรา 9 (ปอ.)

ตัวอย่าง 1 : นายจอนเป็นคนอังกฤษลักทรัพย์นายดำ (คนไทย) ที่ประเทศอังกฤษ ตำรวจประเทศอังกฤษจับนายจอนได้ โดยศาลอังกฤษตัดสินลงโทษตามกฎหมายอังกฤษโดยลงโทษจำคุก 3 ปี จอนถูกลงโทษครบถ้วนแล้วจึงมาเที่ยวเมืองไทยและได้พบกับนายดำ นายดำจึงมาขอให้ศาลไทยลงโทษนายจอน ประเด็นเรื่องนี้อยู่ที่ว่า ศาลไทยลงโทษนายจอนได้อีกหรือไม่คำตอบ ศาลไทยลงโทษนายดำอีกไม่ได้เพราะเหตุผลตามที่มาตรา 10 ห้ามลงโทษโดยมีหลักว่า “บุคคลไม่ควรถูกพิจารณาพิพากษาลงโทษซ้ำสองเพราะการกระทำครั้งเดียว”

ตัวอย่าง 2 : นายเอ (คนไทย) ลักทรัพย์นายไมค์ (คนอังกฤษ) ที่ภูเก็ต และตำรวจไทยจับเอไม่ได้ ต่อมาเอไปเที่ยวที่อังกฤษและไมค์จำเอได้ จึงได้ขอให้ศาลอังกฤษซึ่งมีบทบัญญัติเหมือนมาตรา 8 ซึ่งศาลอังกฤษพิพากษาลงโทษจำคุกเอ 3 ปี เมื่อเอได้รับโทษครบถ้วนแล้วจึงกลับมาเมืองไทย ตำรวจไทยจับเอได้โดยอาศัยมาตรา 4 ดำเนินคดีกับเอตามมาตรา 334 ประเด็นอยู่ที่ศาลไทยจะลงโทษเอได้อีก ได้หรือไม่คำตอบ ศาลไทยลงโทษเอได้อีกโดยอาศัยมาตรา 11 วรรคแรก แม้เอจะรับโทษครบถ้วนแล้วเพราะมีหลักว่า “ความผิดเกิดในประเทศใด ศาลประเทศนั้นย่อมทรงไว้ซึ่งอำนาจที่จะลงโทษผู้กระทำความผิด” และหลักนี้สำคัญกว่าหลักห้ามลงโทษซ้ำซ้อน ศาลไทยจึงลงโทษเอได้อีก เว้นแต่ถ้าการที่ศาลอังกฤษลงโทษเอนั้นเป็นเพราะรัฐบาลไทยร้องขอก็ถือเสมือนหนึ่งว่ารัฐบาลไทยโอนอำนาจในการลงโทษเอ ให้แก่ประเทศนั้นๆ แล้ว

ที่มา : ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499