ค้นหา

8 วิธีจัดการสินสมรส ลดความขัดแย้งในชีวิตคู่

เมื่อชายและหญิงแต่งงานและจดทะเบียนสมรสกันถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ย่อมก่อให้เกิด ความผูกพันเป็นครอบครัว ที่จะต้องดูแลเลี้ยงดูกัน การจัดการทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน ที่เรียกกันว่า “สินสมรส” ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 ได้แก่ ทรัพย์สิน
(1) ที่คู่สมรสได้มา ระหว่างสมรส
(2) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรม หรือโดยการให้เป็นหนังสือ เมื่อพินัยกรรม หรือ หนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส
(3) ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว

กฎหมายจึงเปิดโอกาสให้คู่สมรส สามารถตกลงรูปแบบ วิธีการ เงื่อนไข และข้อจำกัดเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินของคู่สมรสที่แตกต่างไปจากที่กฎหมายกำหนดได้ตามที่คู่สมรสเห็นสมควร เพื่อให้คู่สมรสสามารถกำหนดสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ การจัดการทรัพย์สิน และข้อตกลงอื่นๆ เกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินหากการสมรสสิ้นสุดลง รวมถึงการกำหนดใช้เงินระหว่างคู่สมรสด้วย โดยระหว่างการเจรจาเงื่อนไขและข้อกำหนดในสัญญาก่อนสมรส แต่ละฝ่ายควรปรึกษาทนายความ เพื่อขอคำแนะนำและให้สัญญาดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย หากไม่ได้ทำสัญญาตกลงกันเรื่องจัดการทรัพย์สินระหว่างคู่สมรสแล้ว เมื่อการสมรสสิ้นสุดลง แต่ละฝ่ายจะมีสิทธิจัดการทรัพย์สินเฉพาะสินส่วนตัวเท่านั้น ส่วนสินสมรสต้องจัดการร่วมกันและแบ่งให้แต่ละฝ่ายเท่าๆ กัน

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476 กำหนดวิธีจัดการสินสมรสไว้ 8 เรื่อง ที่คู่สมรสสามารถจัดการสินสมรสร่วมกันได้
1. การจัดการเกี่ยวกับทรัพย์ : ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ต้องได้รับการยินยอมร่วมกัน
2. การจัดการทรัพยสิทธิ : ได้แก่ ภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์
3. ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกิน 3 ปี : ต้องไปจัดการร่วมกัน หากฝ่าฝืนสามีหรือภริยาที่ไม่ให้ความยินยอมมีสิทธิฟ้องเพิกถอน
4. ให้กู้ยืมเงิน : กรณีให้กู้ ต้องยินยอมร่วมกัน กรณีไปกู้ ไม่ต้องยินยอมร่วมกัน ถือเป็นหนี้ส่วนตัว
5. การให้โดยเสน่หา : หากเป็นทรัพย์สินจำนวนมาก ต้องได้รับความยินยอมจากทั้งสองฝ่าย ยกเว้น การให้ที่พอสมควรตามฐานะ เพื่อการกุศลเพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา
6. เอาสินสมรสไปเป็นหลักประกัน : ยกเว้นในกรณีใช้ตำแหน่งส่วนตัวไม่ต้องยินยอมจากคู่สมรส
7. มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย : หากจะมอบข้อพิพาทเกี่ยวกับสินสมรสให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยต้องยินยอมร่วมกัน
8. ประนีประนอมยอมความ : ทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เป็นสินสมรส ต้องได้รับความยินยอมร่วมกัน

การจัดการสินสมรส นอกจากที่ได้กล่าวมา สามีหรือภริยาสามารถจัดการได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง สามารถทำได้โดยลำพังตนเอง เช่น ถ้าเป็นเรื่องการให้เช่า อสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เกิน 3 ปี หรือ การไปทำสัญญาค้ำประกัน การเช่าซื้อสังหาริมทรัพย์ธรรมดาที่จำเป็นในโลกยุคปัจจุบัน เช่น เครื่องเสียง ตู้เย็น โทรทัศน์ เป็นต้น

แต่ถ้าฝ่ายสามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปจัดการสินสมรสที่กฎหมายบังคับให้ต้องจัดการร่วมกัน หรือต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรส อีกฝ่ายก่อนโดยไปทำนิติกรรมแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งจะเห็นได้ว่าเกิดความไม่เป็นธรรมต่อคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง ที่ไม่ได้รู้เห็นด้วย และต้องมารับผิดชอบร่วมกัน

กฎหมายจึงมีทางออกแก่คู่สมรสฝ่ายที่ไม่ได้รู้เห็นด้วย ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 โดยฝ่ายนั้น มีสิทธิที่จะฟ้องร้องต่อศาลภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้รู้เหตุ แต่ไม่ให้ฟ้องถ้าเกิน 10 ปีแล้ว เพื่อให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมที่ตนไม่ได้รู้เห็นและยินยอมได้โดยมีข้อยกเว้นว่า ห้ามฟ้อง คือ ฝ่ายที่ไม่รู้เห็นได้ให้สัตยาบัน คือ ยอมรับนิติกรรมนั้นแล้ว หรือถ้าในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งทำนิติกรรมนั้น บุคคลภายนอกได้กระทำการโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน

การจัดการสินสมรสมีผลผูกพันเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือหนี้สินระหว่างคู่สัญญา 2 ฝ่าย ทั้งคู่สัญญาฝ่ายชายและคู่สัญญาฝ่ายหญิง ต้องทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนหรือทำสัญญาพร้อมกับการจดทะเบียนสมรสกับนายทะเบียน และลงลายมือคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่ายและต้องมีพยานลงนามในสัญญาอย่างน้อย 2 คน ซึ่งจะถือเป็นสัญญาสลักหลังทะเบียนสมรสของคู่สมรส หากต้องการแก้ไขหรือเพิกถอนสัญญาก่อนสมรสหลังจากได้จดทะเบียนสมรสจะทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลเท่านั้น หากทำสัญญาดังกล่าวภายหลังการจดทะเบียนสมรส ตามกฎหมายจะถือว่าเป็นสัญญาระหว่างสมรส ซึ่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถบอกล้างสัญญาเมื่อใดก็ได้ถ้ายังเป็นสามีภรรยากันอยู่หรือบอกล้างภายใน 1 ปี นับแต่วันสิ้นสุดการเป็นสามีภรรยากัน