ค้นหา

อายุความ มีไว้ทำไม ?

วัตถุประสงค์ อายุความ คดีอาญานั้น คนทำผิด ต้อง รับโทษ..

อายุความในคดีอาญา

หากปล่อยเวลาเนิ่นนานไปจนคดีขาดอายุความแล้ว เช่น หลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ คนทำผิดก็อาจจะลอยนวล ไม่ต้องรับโทษตามกฎหมายได้ เรามาดูกันว่า ทำไมต้องมีอายุความในคดีอาญา อายุความมีไว้ทำไม จะเป็นช่องว่างที่นักกฎหมายเขียนมาเพื่อ ช่วยให้พวกพ้องหลุดพ้นคดีจริงหรือไม่ ประเทศต่างๆ ในโลก แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม

กลุ่มแรก ประเทศที่มีกฎหมายอายุความ ประเทศในกลุ่มนี้ กฎหมายจะกำหนดเวลาไว้ จะมากน้อย แล้วแต่โทษว่าจะหนักหรือเบาว่า…เจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องหาตัวคนทำผิดมาดำเนินคดีให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลา.. ถ้าหนีไปจนเลยเวลาแล้ว ห้ามดำเนินคดีเขาอีก…ตัวอย่างประเทศในกลุ่มนี้ เช่น ประเทศไทย ฝรั่งเศส เป็นต้น นับแต่วันทำผิด.. ถ้าหลบหนีไปและจับไม่ได้ภายในอายุความ คดีจะขาดอายุความ จับอีกไม่ได้แล้ว แต่ถ้าตำรวจจับได้แล้ว เขาหนีไป ก่อนที่อัยการจะฟ้องศาล จนคดีขาดอายุความแล้ว.. แม้เจอตัวทีหลัง ก็จะจับเขามาฟ้องคดีไม่ได้..เพราะขาดอายุความ ถ้าตำรวจจับได้ อัยการฟ้องศาลแล้ว.. แต่เขาหลบหนีไปก่อนศาลตัดสิน.. จนขาดอายุความ.. แม้เจอตัวทีหลัง ก็ฟ้องอีกไม่ได้ ถ้ามีตัวอยู่ เขาถูกดำเนินคดีจนศาลตัดสินจำคุก แต่ต่อมาแหกคุกหนีไป จนขาดอายุความ.. แบบนี้ ก็จะไปจับเขาอีกไม่ได้…วัตถุประสงค์ของประเทศที่ให้มีอายุความ เพราะเชื่อว่า “การพิสูจน์ความจริง” นั้น ต้องรีบทำให้เร็วที่สุด ในขณะที่ พยานหลักฐานยังสดและใหม่ เพราะโอกาสที่ศาลจะตัดผิดพลาดคลาดเคลื่อนจะมีน้อย ยิ่งทิ้งเวลาไว้นานเท่าใด หลักฐานต่างๆยิ่งสูญหายไปมากขึ้น.. .โอกาสที่ศาลจะตัดสินยกฟ้อง หรือผิดพลาดก็มีมากขึ้นไปด้วย..ดังนั้น เพื่อเร่งรัดให้ตำรวจเร่งจับกุมคนร้าย.. และเร่งรัดให้อัยการรีบฟ้อง..จึงจำเป็นต้องมีอายุความ อายุความจึงมีประโยชน์ ที่จะเป็น สภาพบังคับให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเร่งรัดการสืบสวนสอบสวน ฟ้องและตัดสินคดีโดยเร็วนั่นเอง หากละเลย ไม่เร่งรัด เพื่อให้ได้ตัวผู้กระทำผิดมาเข้าสู่กระบวนการภายในอายุความ เจ้าหน้าที่ๆเกี่ยวข้องต้องมีความรับผิด

กลุ่มที่สอง ประเทศที่มีอายุความเฉพาะในความผิดเล็กน้อย แต่ไม่มีอายุความในความผิดร้ายแรง เช่น ประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา เป็นต้น.เนื่องจากประเทศเหล่านี้ เห็นว่า ในความผิดร้ายแรงบางอย่าง..เช่น ฆ่าคนตาย ทุจริตคอร์รัปชั่น ฟอกเงิน หรือข่มขืนเด็ก นั้น ไม่ควรมีอายุความ และไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม พูดง่ายๆ คือ ถ้าหลบหนี ก็ต้องหนีกันให้ตลอดชีวิต แม้จะหนีไปต่างประเทศหลายปี ถ้ากลับมา ก็จะต้องถูกดำเนินคดี..เนื่องจากประเทศกลุ่มนี้ เชื่อว่า.. “คนทำผิด จะอ้างเวลาที่ผ่านไป เพื่อให้ตนรอดพ้นจากการรับโทษไม่ได้..”

ทั้งสองความเชื่อนี้ มีข้อดีข้อเสียต่างกัน กลุ่มแรก เช่น ไทย ที่มีอายุความ ข้อดี คือ คนทำผิดถูกติดตามจับกุมมาลงโทษภายในเวลาไม่นาน แต่ ข้อเสีย คือ ถ้าจับไม่ได้คนร้ายจะอ้างอายุความเพื่อหนีความยุติธรรมได้ กลุ่มที่สอง เช่น สหรัฐอเมริกา ที่ไม่มีอายุความ มีข้อดีคือ แม้ฟ้าถล่มทลาย เวลาเนิ่นนานแค่ไหน คนผิดต้องถูกลงโทษในที่สุด วิธีนี้เหมาะสมกับประเทศที่มีระบบสืบสวนสอบสวนที่จริงจัง คือ ไม่ต้องเร่ง ก็ทำเร็วอยู่แล้ว แต่มีข้อเสีย คือ พยานหลักฐานอาจสูญหายไปตามกาลเวลา และเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจ abuse of power โดย ไม่ติดตามตัวคนร้าย อย่างจริงจัง โดยอ้างว่า ไม่ต้องรีบ คดีไม่มีอายุความ จนกระทั่งพยานสูญหายหมด จึงค่อยจับกุมฟ้องร้อง เพราะรู้อยู่แล้วว่า ที่สุดศาลต้องยกฟ้องเพราะขาดพยานหลักฐาน

สำหรับประเทศไทย เราใช้ระบบกฎหมายที่มีอายุความแบบกลุ่มแรกครับ แต่ช่วงหลังมานี่ มีคนร้ายสำคัญ หลบหนีไปต่างประเทศ จนคดีขาดอายุความหลายคดี ทำให้เกิดกระแสสังคมที่ ไม่ต้องการให้มีอายุความ จะได้ตามจับได้ และกระแสนั้น ทำให้มีการแก้ไขกฎหมาย ขยายอายุความในคดียาเสพติด และไม่มีอายุความในขณะผู้ต้องหาคดีทุจริตหลบหนี

ด้วยความเคารพ ผมเห็นด้วยว่า การแก้ไขปัญหาทุจริตโดยการแก้ไขเรื่องอายุความ เป็นเรื่องที่ดี.. แต่ก่อนจะแก้ไขกฎหมายอะไร อยากขอให้ทำความเข้าใจระบบกฎหมาย เจตนารมณ์ และข้อดีข้อเสียของการมีและไม่มีอายุความของประเทศอื่นๆก่อน…แล้วพิจารณาระบบกระบวนการยุติธรรมของบ้านเรา ว่าเหมาะสมที่จะเอาแบบเขามาใช้หรือไม่.. ถ้าเอามาใช้ จะเกิดผลเสีย ที่ยอมรับได้ เพียงใด หรือไม่…การใช้ระบบไม่มีอายุความ ย่อมเสี่ยงต่อพยานหลักฐานสูญหายไป.. โดยอ้างได้ว่า คดีไม่มีอายุความ จึงไม่มีใครต้องรับผิดชอบ…ถ้าต่อมาศาลพิพากษายกฟ้อง..สังคมจะยอมรับได้มั้ย…ถ้าเรายึดกับระบบมีอายุความ แล้วสร้างระบบกำกับดูแล การติดตามจับกุมที่ชัดเจนตรวจสอบได้.. น่าจะดีกว่ามั้ย.. .ฝาก นักกฎหมายรุ่นใหม่ ช่วยกันตรองดู…มี งานวิจัย เรื่องอายุความ หลายฉบับ ตั้งแต่ยังไม่มีการ แก้ไขกฎหมายอายุความ มีทั้งที่คณะผู้ทำวิจัยเป็น พนักงานอัยการ และ ผู้พิพากษา.. ใครสนใจลองหาอ่านดูนะครับ

ที่มา : ดร.ธีร์รัฐ ไชยอัคราวัชร์

อายุความ