ค้นหา

ของหมั้น : คำนี้ในกฎหมาย

ก่อนแต่งงานจะมีพิธีที่เรียกว่า “การหมั้น” เป็นสัญญาใจระหว่างหนุ่มสาว ว่าจะสมรสกันในภายหน้า และในพิธีหมั้น จะมีการให้สิ่งที่เรียกว่า “ของหมั้น” 
.
#ของหมั้น#คำนี้ในกฎหมายแปลว่า : ทรัพย์สินที่ฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนให้แก่ฝ่ายหญิง ไว้เป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงคนนั้น ดังนั้น การหมั้นเปรียบเสมือนการทำสัญญาใจระหว่างชายหญิง ส่วน ของหมั้น คือ สิ่งที่ทำให้สัญญาใจนั้นมีน้ำหนักมากขึ้น แต่การหมั้นจะไม่ทำให้สถานะของหญิงชายตามกฎหมายเปลี่ยนแปลงไป

การหมั้นย่อมมีผลทางกฎหมายอย่างแน่นอน เพราะเมื่อหมั้นกันแล้วของหมั้นนั้นย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของหญิงคู่หมั้นทันที “ของหมั้น” ตามกฎหมายนั้น ได้แก่
.
ของหมั้นต้องเป็นทรัพย์สิน – สังหาริมทรัพย์ หรืออสังหาริมทรัพย์ ก็ได้ และยังอาจหมายความรวมถึงสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งอาจมีราคาและถือเอาได้ด้วย เช่น ลิขสิทธิ์ เป็นต้น
.
ของหมั้นต้องเป็นของฝ่ายชายที่ให้ไว้แก่หญิงเท่านั้น เพราะตามกฎหมายการหมั้นจะสมบูรณ์ต่อเมื่อชายคู่หมั้นส่งมอบทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงคู่หมั้นเท่านั้น ดังนั้น ทรัพย์สินที่หญิงให้แก่ชาย จึงไม่ถือเป็นของหมั้น และไม่ทำให้การหมั้นนั้นสมบูรณ์ตามกฎหมาย
.
ของหมั้นต้องให้ไว้ในขณะหมั้นและหญิงต้องได้รับไว้แล้ว ทั้งนี้ การสัญญาว่าจะให้ของหมั้นในวันข้างหน้า แม้ภายหลังจะยกให้กันจริงตามที่สัญญา ทรัพย์สินที่ให้นั้นก็ไม่ถือเป็นของหมั้น หรือในกรณีที่ของหมั้นเป็นอสังหาริมทรัพย์ ต้องมีการโอนกรรมสิทธิ์ให้ด้วย ไม่ใช่การเอาโฉนดที่ดินมาผูกโบว์แล้วส่งให้ฝ่ายหญิงถือว่ายังไม่สมบูรณ์
.
ของหมั้นต้องเป็นการให้เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น เพราะถ้าชายหญิงคู่หมั้นไม่มีเจตนาที่จะสมรสและจดทะเบียนอย่างถูกต้องกันในภายหลัง ของที่ให้กัน ไม่ถือเป็นของหมั้น เป็นเพียงการให้โดยเสน่หาเป็นสัญญาอีกรูปแบบหนึ่งเท่านั้น 
.
ข้อสำคัญ คือ ถ้าเป็นของหมั้นแล้ว ฝ่ายหญิงผิดสัญญาหมั้นหรือมีเหตุสำคัญที่ทำให้ชายคู่หมั้นไม่ควรสมรสกับหญิงนั้น ชายคู่หมั้นย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นและเรียกของหมั้นคืนได้ 
.
ถ้าเป็นการให้โดย “เสน่หา” ถึงแม้หญิงคู่หมั้นไม่ยอมสมรสด้วย กฎหมายไม่ถือว่าเป็นเหตุประพฤติเนรคุณ ทำให้ชายคู่หมั้นฟ้องถอนคืนการให้ไม่ได้

#กฎหมาย#ศัพท์กฎหมายวันละคำ#ของหมั้น#แต่งงาน#สมรสเท่าเทียม#ชื่นใจคนไทยรู้กฎหมาย#รู้กฎหมายไว้ใช้กฎหมายเป็น#สำนักงานกิจการยุติธรรม