ค้นหา

ผู้จัดการมรดก ก็สำคัญนะ

ผู้จัดการมรดก มีทำหน้าที่รวบรวม ทำบัญชี และแบ่งปันทรัพย์สินซึ่งเป็นมรดกของผู้ตายให้ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย และที่สำคัญ ผู้จัดการมรดก ต้องเป็นบุคคลซึ่งศาลมีคำสั่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกนะครับ

หน้าที่ของผู้จัดการมรดก
ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปและมีหน้าที่รวบรวมทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งให้ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม ตลอดจนชำระหนี้สินของเจ้ามรดกแก่เจ้าหนี้ ทำบัญชีทรัพย์มรดก และทำรายการแสดงบัญชีการจัดการและแบ่งมรดก โดยต้องจัดการไปในทางที่เป็นประโยชน์แก่มรดก จะทำนิติกรรมใดๆ ที่เป็นปรปักษ์ต่อกองมรดกไม่ได้

หากผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ เช่น ปิดบังมรดกต่อทายาท หรือเบียดบังเป็นของตน หรือเพิกเฉยไม่แบ่งมรดกให้แก่ทายาท ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกหรือผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้จัดการมรดก เพราะเหตุผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำตามหน้าที่หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควรก็ได้ และอาจมีความผิดอาญามีโทษจำคุกได้

คุณสมบัติของผู้จัดการมรดก
1. บรรลุนิติภาวะ ( มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ )
2.ไม่เป็นคนวิกลจริต
3.ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
4. ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย

ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก
1.ทายาท (ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม)
2.ผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก
3.พนักงานอัยการ

เอกสารที่ต้องนำมายื่นขอเป็นผู้จัดการมรดก
1.สำเนาใบมรณบัตรหรือหนังสือรับรองการตายของผู้ตายและทายาททุกคนที่เสียชีวิตแล้ว
2.สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ตายที่เจ้าหนาที่ประทับว่า “ตาย” แล้ว
3.สำเนาทะเบียนบ้าน และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกและทายาททุกคนที่มีชีวิตอยู่
4.ทะเบียนสมรส หรือทะเบียนหย่า ของสามีภรรยาของผู้ตาย
5.ใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อ ชื่อสกุล กรณีเอกสารไม่ตรงกัน
6.สูติบัตรของบุตรกรณียังไม่บรรลุนิติภาวะ
7.พินัยกรรมของผู้ตาย (ถ้ามี)
8.หนังสือให้ความยินยอมของทายาทที่เซ็นยินยอมต่อหน้าเจ้าหน้าที่
9.บัญชีเครือญาติที่ถูกต้องตามความจริง
10.เอกสารเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ต้องจัดการ เช่น โฉนดที่ดิน, น.ส. 3, สมุดเงินฝาก, ทะเบียนรถ ฯลฯ

#กฎหมายน่ารู้#ผู้จัดการมรดก#สำนักงานกิจการยุติธรรม#กระทรวงยุติธรรม#ชื่นใจคนไทยรู้กฎหมาย#สังคมเคารพกฎหมาย#cultureoflawfulness