ค้นหา

การกระทำละเมิด

คำว่า “ละเมิด” หลายคนคงเคยได้ยินคำนี้กันอยู่บ่อยๆ คำนี้ในทางกฎหมายซับซ้อนและครอบคลุมหลายกรณี หลายการกระทำ และหลายตัวละครแล้วแต่กรณี ในชีวิตประจำวัน หากไม่ได้เรียนกฎหมายมาด้วยแล้วยิ่ง งง งง และงง ไปกันใหญ่เลย..

กฎหมายน่ารู้ 80 : สำหรับวันนี้ขอนำเสนอความรู้กฎหมายที่เกี่ยวกับ “การกระทำละเมิด” ให้แฟนเพจที่ไม่ใช่นักกฎหมายได้เรียนรู้ในแบบที่เข้าใจง่าย ซึ่งเราพยายามสร้างสรรค์และสื่อสารให้คนทั่วไปได้เข้าใจง่ายที่สุด และสำหรับนักฎหมายที่ติดตามเพจเราอยู่ เรายินดีเป็นอย่างยิ่งถ้าท่านสามารถแนะนำหรือให้ความรู้เพิ่มเติมได้ใต้คอมเม้นนะครับ..

ความรู้เบื้องต้น “ละเมิด” คือ การทำของคนที่ทำให้เกิดความเสียหาย ต่อคนอื่น ที่อาจเป็นการทำของตนเอง การทำของคนอื่น หรือความเสียหายเกิดจากทรัพย์ที่อยู่ในความครอบครองดูแล ซึ่งคนได้รับความเสียหายจะได้รับการเยียวยา โดยการเรียกร้อง “ค่าสินไหมทดแทน” หรือเรียกร้องให้คนทำละเมิด “ปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติ” เพื่อบรรเทาความเสียหาย/ป้องกัน/ให้เหตุระงับลงได้

การกระทำละเมิด ผู้กระทำไม่จำต้องกระทำด้วยตนเองเสมอไป อาจใช้คนหรือสัตว์ เป็นเครื่องมือในการทำละเมิด เช่น ยุสัตว์ที่ตนเลี้ยงไว้ให้ไปกัดผู้อื่น ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดด้วยตนเอง นอกจากจะกระทำต่อผู้อื่นแล้ว บางครั้งผู้ทำละเมิดอาจอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ทำอะไรเลย ก็เป็นการทำละเมิดได้ ถ้าตนมีหน้าที่ต้องทำ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น

การกระทำใด ๆ ไม่ว่าตั้งใจหรือไม่ก็ตามเป็นการละเมิดได้ทั้งสิ้น เช่น เดินไปตลาดไปเหยียบข้าวของของผู้อื่น ทำให้เขาได้รับความเสียหาย แม้ไม่ได้ตั้งใจให้เกิดความเสียหายก็ตามก็เป็นละเมิด

ดังนั้น เมื่อได้รู้ถึงการกระทำที่เป็นละเมิดและผลของการกระทำละเมิดแล้ว จึงควรหลีกเลี่ยงหรือพึงระมัดระวัง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือทรัพย์สินของผู้อื่น อีกทั้งยังต้องเสียเงินเพื่อชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หรืออาจต้องขึ้นโรงขึ้นศาล ทำให้เสียทั้งเวลาและทรัพย์สิน ไม่ว่าจะได้กระทำในฐานะบุคคลธรรมดาหรือในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ

มาตรา 423 “ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้ หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดีท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ได้

ผู้ใดส่งข่าวสารอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง หากว่าตนเองหรือผู้รับข่าวสารนั้นมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว ท่านว่าเพียงที่ส่งข่าวสารเช่นนั้นหาทำให้ผู้นั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่”

ที่มา : ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

#กฎหมายน่ารู้#ละเมิด#สิทธิ#คดีแพ่ง#คดีอาญา#ประมาท#ค่าสินไหมทดแทน#ชื่นใจคนไทยรู้กฎหมาย#รู้กฎหมายไว้ใช้กฎหมายเป็น#สำนักงานกิจการยุติธรรม#กระทรวงยุติธรรม