ค้นหา

โรคใคร่เด็ก (Pedophilia, paedophilia) สาเหตุการกระทำผิดซ้ำๆ ในคดีเพศ

โรคใคร่เด็ก (Pedophilia, paedophilia) สาเหตุการกระทำผิดซ้ำๆ ในคดีเพศ
.
Q : โรคใคร่เด็ก คือ อะไร ?

A : โรคใคร่เด็ก เป็นความผิดปกติทางจิตที่ผู้ใหญ่หรือผู้ที่อยู่ในวัยรุ่นตอนปลายมีความต้องการทางเพศกับเด็กที่มีอายุก่อนวัยเริ่มเจริญพันธุ์ (อายุไม่เกิน 13 ปี) ซึ่งทางการแพทย์กำหนดว่าผู้เป็นโรคใคร่เด็กจะต้องมีอายุ 16 ปีขึ้นไป และผู้นั้นต้องมีอายุมากกว่าเด็กอย่างน้อย 5 ปี ซึ่งการเป็นโรคใคร่เด็กก็ไม่นำไปสู่การทารุณหรือการทำร้ายเด็กทางเพศเสมอไป 
.
Q : สถานการณ์การกระทำผิดทางเพศในประเทศไทยเป็นอย่างไร ?

A : สถิติผู้ต้องขังคดีทางเพศของกรมราชทัณฑ์ ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 มีจำนวน 9,566 คน คิดเป็นร้อยละ 3.06 ของผู้ต้องขังทั้งหมด 312,431 คน
.
อันดับหนึ่ง คือ คดียาเสพติดจำนวน 250,891 คน คิดเป็นร้อยละ 80.30 
อันดับสอง คือ ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ 24,020 คน คิดเป็นร้อยละ 7.69 
อันดับสาม คือ ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายจำนวน 18,605 คน คิดเป็นร้อยละ 5.95 
.
เมื่อดูตัวเลขการกระทำผิดซ้ำ พบว่า สถิติการกระทำผิดซ้ำในคดีเพศ จะมีจำนวนน้อยแต่เป็นลักษณะคดีที่มีผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชน โดยเฉพาะในกรณีที่มีพฤติการณ์ที่โหดร้ายใช้ความรุนแรงและกระทำต่อเด็กเล็ก 
.
ถ้าจำแนกตามคดีผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวด้วยคดีทางเพศ แล้วกลับมา 
กระทำผิดซ้ำภายใน 1 ปี เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 8.76 
กระทำผิดซ้ำภายใน 2 ปี เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 14.85 
กระทำผิดซ้ำภายใน 3 ปี อยู่ที่ร้อยละ 22.04 
.
สถิติเฉพาะปี 2560 มีผู้ต้องขังที่ถูกปล่อยตัวด้วยคดีทางเพศกลับกระทำผิดซ้ำภายใน 1 ปี จำนวน 217 ในจำนวนดังกล่าวมี 24 คน ที่กลับมากระทำผิดซ้ำในคดีทางเพศ คิดเป็นร้อยละ 0.98 มี 13 คน ที่ถูกปล่อยตัวด้วยคดีข่มขืนกระทำชำเรา และกลับมากระทำผิดในคดีฐานความผิดเดิมด้วย
.
อย่างไรก็ตาม แม้สถิติการกระทำความผิดในคดีเกี่ยวกับเพศจะมีจำนวนน้อยแต่เป็นลักษณะคดีที่มีผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชน โดยเฉพาะในกรณีที่มีพฤติการณ์ที่โหดร้ายใช้ความรุนแรงและกระทำต่อเด็กเล็ก 
.
ทั้งยัง มีความเป็นไปได้ว่าผู้เสียหายจากคดีความผิดเกี่ยวกับเพศอาจมีความกลัวหรือไม่ อยู่ในสภาวะที่สามารถรายงานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อเทียบกับผู้เสียหายในคดีอื่นๆ จึงส่งผลให้จำนวนสถิติของการกระทำความผิดและการกระทำผิดซ้ำที่เกี่ยวกับเพศนั้นอาจมีน้อยกว่าความเป็นจริงมากเมื่อเทียบกับคดีอื่นๆ
.
Q : มีการจำแนกหรือแบ่งประเภทการกระทำผิดทางเพศไว้หรือไม่อย่างไร?

A : การแบ่งประเภทไว้หลากหลาย เช่น 
กลุ่มนักข่มขืน (Rapists) กลุ่มนี้เป็นเสมือนนักล่าที่คอยหาโอกาสในการข่มขืนซึ่งเป็นผู้มีประวัติการกระทำผิดที่ใช้ความรุนแรง มีพฤติกรรมที่ก้าวร้าว และมีแนวโน้มที่จะกระทำผิดซ้ำโดยมีการใช้ความรุนแรง ผู้กระทำผิดทางเพศที่เป็นผู้หญิง ผู้กระทำผิดทางเพศบนอินเตอร์เน็ต ผู้ที่เป็นโรคใคร่เด็ก เป็นต้น
.
Q : การทารุณ/ทำร้ายเด็กทางเพศ เกิดจากเป็นโรคใคร่เด็กใช่หรือไม่?

A : ผู้ที่เป็นโรคใคร่เด็กจะเป็นผู้มีแรงดึงดูดทางเพศกับเด็กเล็ก ซึ่งอาจจะนำไปสู่การทำร้ายทางเพศหรือไม่ก็ได้ แต่หากมีพฤติกรรมการทำร้ายทางเพศต่อเด็กแล้วก็มักจะมีแนวโน้มที่จะกระทำเช่นนั้นซ้ำอีก  ที่สำคัญก็ คือ คนที่ทำร้ายเด็กทางเพศนั้น หลายคนก็ไม่ได้เกิดจากการที่เป็นโรคใคร่เด็กแต่อาจกระทำด้วยสาเหตุอื่นๆ เช่น การที่เป็นผู้มีอารมณ์ทางเพศสูง การเมาสุรา การไม่มีโอกาสที่เหมาะสมกับผู้ที่อยู่ในวัยเดียวกัน ผู้ที่มีภาวะหรือลักษณะนิสัยต่อต้านสังคม ผู้ที่มีปัญหากับคู่สมรส และเป็นผู้ที่มีปัญหาความผิดปกติทางด้านร่างกาย หรือจิตใจ รวมทั้งการมีภาวะซึมเศร้ารุนแรง 

บางกรณีอาจเป็นสิ่งกระตุ้นที่ทำให้ผู้เป็นโรคใคร่เด็กเกิดภาวะเครียด หรือปัญหาก็นำไปสู่การทำร้ายเด็กทางเพศได้ โดยสรุปว่า ผู้ที่มีพฤติกรรมกระทำทารุณหรือทำร้ายเด็กทางเพศนั้นอาจมิได้เกิดจากการที่เขาเป็นโรคใคร่เด็กเสมอไป และคนที่เป็นโรคใคร่เด็กเองก็อาจไม่มีพฤติกรรมการทารุณหรือทำร้ายเด็กทางเพศก็ได้
.
Q : โรคใคร่เด็ก สามารถบำบัด ได้หรือไม่?

A : ปัจจุบันงานวิจัยส่วนใหญ่บ่งชี้ว่าโรคใคร่เด็กเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ยาก อีกทั้งมีข้อมูลสนับสนุนว่าผู้ที่เป็นโรคใคร่เด็กอาจไม่ได้มีการทำร้ายเด็กทางเพศ แต่เมื่อผู้เป็นโรคใคร่เด็กมีพฤติกรรมทำร้ายเด็กทางเพศแล้ว การบำบัดรักษา ส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่การช่วยฝึกให้เขาสามารถระงับอารมณ์และความต้องการเพศกับเด็กเล็กได้ หรือมีแนวทางการตอบสนองต่อความต้องการทางเพศที่เหมาะสมยิ่งขึ้น
.
Q : แล้วผู้ที่กระทำผิดทางเพศประเภทอื่นๆ สามารถบำบัดได้หรือไม่?

A : ประการสำคัญ คือ ต้องทำความเข้าใจกับผู้กระทำผิดทางเพศ เกี่ยวกับสาเหตุ และเส้นทางสู่การล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีการประเมินและสัมภาษณ์ประวัติของผู้กระทำผิดเป็นรายกรณี 
โดยเฉพาะประวัติที่เกี่ยวข้องกับประวัติชีวิตการเลี้ยงดู ประวัติการถูกล่วงละเมิดทางเพศ รายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำผิด ทั้งในส่วนพฤติกรรมและความคิดของผู้กระทำผิด 
ในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังจากที่ได้ลงมือกระทำผิดแล้ว ทั้งนี้ผู้สัมภาษณ์ต้องมีทักษะและเทคนิคในด้านนี้เป็นอย่างดี เพื่อให้ได้ทราบถึงสภาพปัญหาและสาเหตุที่แท้จริง เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาออกแบบแนวทางในการบำบัด แก้ไขฟื้นฟูให้ตรงกับสภาพปัญหาและความจะเป็นของแต่ละบุคคลเพื่อลดความเสี่ยงต่อการกระทำผิดซ้ำในอนาคต
.
สำหรับในครั้งต่อไป ลองมาดูกันว่า “ประเทศไทยมีแนวทางในการบำบัดผู้ที่กระทำผิดทางเพศเพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำอย่างไร ?”

ที่มา : รายงานสรุปกรอบกฎหมายและมาตรการในการป้องกันการกระทำผิดซ้ำในคดีทางเพศ จัดทำโดย : สถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม สำนักงานกิจการยุติธรรม

#บทความ#วิชาการ#คดีเพศ#สาเหตุ#บำบัด#ทำผิดซ้ำ#แก้ไข#ฟื้นฟู#โรคใคร่เด็ก#งานวิจัย