ค้นหา

การบำบัดด้วยวิธีการใช้ยาเพื่อควบคุมอารมณ์ทางเพศในนักโทษคดีข่มขืน โดย **วศินี กมลวารินทร์ **ผศ.ดร.ธานี วรภัทร์

วารสารกระบวนการยุติธรรม : การบำบัดด้วยวิธีการใช้ยาเพื่อควบคุมอารมณ์ทางเพศในนักโทษคดีข่มขืน โดย **วศินี กมลวารินทร์ **ผศ.ดร.ธานี วรภัทร์

ตามที่สถานการณ์และรายงานการเกิดคดีเกี่ยวกับการกระทำชำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา โดยเฉพาะที่เป็นข่าวครึกโครมอยู่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คือ 

การข่มขืนกระทำชำเราต่อเด็กอายุไม่เกิน 15 ปีประกอบกับมีพฤติการณ์ฆ่าเหยื่อเพื่อปิดปากหรืออำพรางคดีร่วมด้วยจึงเป็นเหตุให้หน่วยงานของรัฐต้องร่วมกันเร่งมือแก้ปัญหาอย่างจริงจัง 

โดยการติดตามและขยายผลเพื่อหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ และถึงแม้ว่าอัตราโทษสูงสุดของการกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราตามกฎหมายไทย คือโทษประหารชีวิตก็ไม่ได้ทำให้ผู้กระทำความผิดเกิดความเกรงกลัวหรือมีความยำเกรงในอำนาจของกฎหมาย

เนื่องจากว่าผู้กระทำความผิดมีพฤติกรรม และความรู้สึกทางเพศที่ผิดปกติจากบุคคลทั่วไป หรือกามวิตถาร โดยผู้กระทำความผิดยังเป็นผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้รู้จักผิดชอบชั่วดีและรู้ว่าตนมีความผิดปกติในร่างกายและจิตใจของตน แต่ไม่สามารถควบคุมตนเองได้กล่าวคือยังมีเจตนา มีความตั้งใจ มีแรงจูงใจ มีแรงผลักดันทางเพศ มีการวางแผน แต่ก็ไม่ใช่อาการที่เกิดจากโรคจิต เช่น อาการหูแว่วประสาทหลอน ดังนั้น เมื่อมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น

จึงต้องรับโทษเช่นเดียวกันกับคนปกติทั่วไป คือ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา276 มาตรา277 หรือ277 ทวิ แต่ปัญหาสำคัญที่เกิดจากการกระทำความผิดของผู้กระทำความผิดประเภทนี้ คือการกระทำความผิดซ้ำ ผู้กระทำความผิดเหล่านี้มีฮอร์โมนเพศที่สูง ส่งผลให้เกิดความต้องการทางเพศที่สูงขึ้นตามมา ประกอบกับไม่สามารถควบคุมความต้องการของตนเองได้จึงเป็นที่มาของการกระทำความผิด

ดังนั้น การที่ผู้กระทำความผิดจะต้องรับการลงโทษด้วยการประหารชีวิตหรือจำคุก ที่กำหนดไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา18 ด้วยวิธีเดียวจึงไม่น่าที่จะเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกต้องเพราะไม่อาจทำให้ปัญหาที่เกิดจากความผิดปกติทางด้านจิตใจหายไปได้

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ผู้เขียนจึงได้ศึกษาวิธีการบำบัดผู้กระทำความผิดทางเพศโดยวิธีการใช้ยาเพื่อควบคุมฮอร์โมนเพศในต่างประเทศ เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยในการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดทางเพศไม่ให้กลับมากระทำความผิดซ้ำอีก

จากการศึกษาวิธีการบังคับโทษผู้กระทำความผิดทางเพศด้วยวิธีการใช้ยาเพื่อควบคุมฮอร์โมนเพศ ตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา รัฐแคลิฟอร์เนียรัฐฟลอริดาและประเทศสาธารณรัฐเกาหลีพบว่าทุกประเทศมีการนำวิธีการดังกล่าวมาใช้เพื่อลดความต้องการทางเพศของผู้กระทำความผิด อันเป็นการบำบัดโดยตรงต่อผู้กระทำความผิดและส่งผลให้กระบวนการยุติธรรมเกิดความมั่นใจก่อนที่จะมีการปล่อยตัวผู้กระทำความผิดออกสู่สังคมการนำวิธีการดังกล่าวมาใช้ไม่ใช่เพียงแต่คำนึงถึงประโยชน์ในด้านของตัวผู้กระทำความผิดเองแต่ได้คำนึงถึงความปลอดภัยของคนในสังคมเป็นหลัก

นอกจากนี้สิ่งที่ได้จากการศึกษากฎหมายของประเทศต่างๆคือการเปิดโอกาสให้ผู้กระทำความผิดมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เพราะวิธีการใช้ยาเพื่อควบคุมฮอร์โมนเพศแม้จะเป็นวิธีการบำบัดรักษา แต่ก็เป็นการกระทำต่อเนื้อตัวร่างกายของบุคคล ที่อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ภายหลังการใช้ได้ ดังนั้นการให้ความยินยอม การรับทราบ การให้ข้อมูลการตกลงทำความเข้าใจกันระหว่างผู้บังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิดจึงเป็นเรื่องสำคัญทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ดังนั้น บทลงโทษที่เหมาะสมจึงควรจะเป็นการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญาประกอบกับการรักษาด้วยการใช้ยาเพื่อควบคุมฮอร์โมนเพศในการบำบัดผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเพศอันจะช่วยลดอัตราการกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราซ้ำ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการบังคับโทษ ที่ประสงค์ให้ผู้ต้องโทษเมื่อพ้นโทษแล้วสามารถดำรงชีวิตในอนาคตโดยปราศจากการกระทำความผิดและมีความรับผิดชอบต่อสังคม และเพื่อเป็นการคุ้มครองสังคม

อ่านฉบับเต็ม : http://www.oja.go.th/…/dlm_uploads/2018/11/9-2-4.pdf